ลดการปล่อยน้ำมันจากอาหารสู่สิ่งแวดล้อมด้วยกระดาษดูดซับไขมันที่เคลือบไคโตแซนและกลูโคแมแนน

 คุณรู้หรือไม่ว่าน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารทุกวันนี้ถูกเททิ้งและล้างออกไปจากภาชนะหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ไขมันส่วนนี้จะไหลไปตามท่อระบายทำให้เกิดน้ำเสีย เน่าเหม็น เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนที่อยู่อาศัยโดยรอบ วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้คือ การบําบัดน้ำเสีย ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ก็จะมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำลงสู่ธรรมชาติ แล้วทำไมเราถึงจะไม่มีวิธีการลดปริมาณน้ำมันเหลือใช้ในครัวเรือนก่อนล้างภาชนะแล้วปล่อยน้ำลงสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง ยกตัวอย่างงานวิจัยของวุฒินันท์ คงทัด และคณะ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการพัฒนากระดาษดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซน และกลูโคแมนแนน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีมากสำหรับใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกระดาษดังกล่าวสามารถดูดซับไขมันได้ดี และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ

เนื่องจากเป็นวัสดุ ที่ได้จากธรรมชาติโดยใช้เหยื่อจากเปลือกของต้นปอสา ส่วนสารเคลือบไคโตแซน และกลูโคแมนแนน เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนากระดาษดูดซับน้ำมันที่เคลือบด้วยสารละลายไคโตแซนและกลูโคแมนแนน เพื่อให้ได้กระดาษที่สามารถดูดซับน้ำมันจากอาหารทอดที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟได้ วิธีการศึกษาโดยต้มเยื่อปอสาเกรด A ด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ความเข้มข้น 8% ของน้ำหนักเปลือกอบแห้งอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เวลา 3 ชั่วโมง แล้วฟอกด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 4%  ของน้ำหนักเยื่ออบแห้ง ทำแผ่นกระดาษด้วยมือแบบไทยน้ำหนักมาตรฐาน 40  60  80  100  120  และ 140  g/m2 เคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน ไคโตแซน กลูโคแมนแนนแล้วเคลือบทับด้วยไคโตแซน และเคลือบด้วยส่วนผสมของสารละลายกลูโคลแมนแนนและไคโตแซน ที่ความเข้มข้น 0.2  0.4 0.6  0.8 และ 1.0% โดยปริมาตร แล้วทดสอบสมบัติเชิงกลการดูดซับน้ำมัน การดูดซับน้ำของกระดาษ ตามวิธีมาตรฐานของ  TAPPI ทดสอบการดูดซับน้ำมันจากอาหารทอดที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟและทดสอบการกรองน้ำแกงที่เหลือจากการรับประทาน ผลที่ได้คือกระดาษสาที่น้ำหนักมาตรฐาน 40 g/m2 แล้วเคลือบด้วยสารละลายไคโตแซนความเข้มข้น 0.2% โดยปริมาตร ซึ่งเป็นกระดาษที่มีคุณสมบัติเชิงกลและสามารถดูดซับน้ำมันจากอาหารทอดที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟได้ดีที่สุด (ดังรูปภาพ) ซึ่งมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนในการผลิตต่ำสามารถผลิตจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ห่อ หรือรองอาหารทอดด้วยน้ำมัน รองอาหารเพื่อใช้อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ ใช้เช็ดจาน หรือภาชนะที่มีไขมันหรือเศษอาหารติด สามารถใช้เช็ดโต๊ะ เตาที่มีไขมันเปื้อน และใช้เป็นกระดาษกรองเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนได้ด้วย

image018 image019

image017 image016

จากงานวิจัยของวุฒินันท์ คงทัด และคณะ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งได้อีกทางหนึ่ง และน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตจำหน่ายในเชิงอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

ดังนั้นการกำจัดน้ำมันเหลือใช้ในครัวเรือนจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป ถ้ามีการพัฒนากระดาษดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซนอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้ได้จริง เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังสามารถนำมาใช้ทดแทนกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสำนักงานที่ใช้งานแล้ว ที่มักจะพบเห็นตามร้านค้าขายของทอดทั่วไป ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านำมาใช้ห่อหรือรองอาหารประเภททอดเพื่อเป็นการประหยัด หรือผู้ขายขาดความรู้ ผลจากการใช้กระดาษดังกล่าว จะมีโทษต่อสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากน้ำหมึกที่ใช้พิมพ์บนกระดาษเหล่านั้น มีสารที่เป็นโลหะหนักปนอยู่มาก พวกโลหะหนักเหล่านี้จะปนเปื้อนกับอาหารได้ง่ายเนื่องจากน้ำเป็นตัวทำละลายที่ดี เมื่อเรารับประทานอาหาร เข้าไป ก็จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

เรื่องโดย    : กัญญารัตน์ สุวรรณทีป ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. 0-2561-1474