ชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดินภาคสนาม ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Soil Organic Matter Test Kit)

ใส่ปุ๋ยถูกต้อง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุเพื่อประเมินปริมาณอินทรียวัตถุในดิน สำหรับใช้ในภาคสนาม  สามารถทราบผลการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว   แม่นยำ ช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจากการใส่ปุ๋ยที่เกินพอดี

pic1 pic3 pic2

อินทรียวัตถุในดินคือแหล่งสำคัญของการกักเก็บธาตุอาหารพืช และจุลินทรีย์ในดิน เป็นอินทรียสารที่มีอยู่ในดิน ตั้งแต่ซากพืช ซากสัตว์  สิ่งมีชีวิต ที่ทับถมอยู่ในดิน รวมทั้งอินทรียสารที่รากพืชหรือจุลินทรีย์ในดินสังเคราะห์ขึ้น องค์ประกอบของอินทรียวัตถุในดินเป็นตัวช่วยปรับปรุงสมบัติและลักษณะของเนื้อดิน ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น โครงสร้างดิน  สีของดิน ความร่วนซุย การระบายน้ำ การดูดซับหรือความจุในการอุ้มน้ำ   ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน บ่งบอกถึงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ที่ชาวบ้านเรียกว่า ดินดี ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช การทราบปริมาณอินทรียวัตถุในดินจึงทำให้สามารถประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินได้

ที่เรียกว่าดินดี  มีอะไรอยู่ในดินบ้าง  แล้วจะตรวจสอบได้อย่างไร

ธาตุอาหารในดินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนซึ่งเป็นธาตุองค์ประกอบของอากาศและน้ำ  ส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการในปริมาณมาก และธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน นอกจากนี้ยังมีจุลธาตุอาหารอื่นอีก 8 ชนิด ที่พืชต้องการในปริมาณเล็กน้อย เช่น เหล็ก สังกะสี  โบรอน  ฯลฯ แต่โดยทั่วไปดินมักมีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพืช โดยเฉพาะพืชที่ปลูกในระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบชนิดเดียวทำให้ได้ผลผลิตต่ำ

ปัจจุบันมีคำแนะนำมากมายในการปรับปรุงบำรุงดินโดยการเพิ่มเติมปริมาณอินทรียวัตถุลงในดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ชนิดต่างๆ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารพืช  แต่แน่ใจหรือว่าสามารถทำให้ดินดีขึ้นได้ นอกจากเสียเงินแล้ว ผลผลิตพืชอาจไม่เพิ่มขึ้นเพราะคุณสมบัติดินไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่เหมาะสม ดังนั้นก่อนจะบำรุงดิน ต้องทำความรู้จักสภาพดินที่เป็นอยู่ก่อน จะสามารถช่วยให้เลือกใช้ปุ๋ยชนิดและปริมาณที่เหมาะสม เป็นการปรับสภาพดินให้ตรงกับปัญหา

ผศ.ดร.เสาวนุช  ถาวรพฤกษ์   ผศ. ดร.สุเทพ ทองแพ   ดร.เพชรดา ปินใจ  จากภาควิชาปฐพีวิทยา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนา ชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดิน สำหรับใช้ในภาคสนาม    มีลักษณะ เป็นกล่องชุดเครื่องมือตรวจหาปริมาณอินทรียวัตถุ  ภายในบรรจุ สารเคมี และอุปกรณ์ 12 รายการ  แผ่นแถบสีมาตรฐาน สำหรับเทียบสีดิน และหนังสือคู่มือการใช้งาน  โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ปริมาณอินทรียวัตถุ แบบ wet  oxidation ของ Walkley  and  Black  titration  เหมือนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพียงปรับลดบางขั้นตอนและเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ให้เหมาะสม  ใช้วิธีการเทียบสีของสารละลายที่เปลี่ยนไป กับแถบสีมาตรฐาน

6 ขั้นตอนการใช้งานชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดิน

เริ่มต้นโดย 1)ใช้ช้อนตวงดินที่บดละเอียดแล้ว 1 ช้อนพูน เคาะเบาๆแล้วปาดหน้าให้เรียบ  เทใส่ขวดทำปฏิกิริยาที่ให้มา   2) ใช้หลอดดูดน้ำยาเบอร์1  5 มิลลิลิตร  หยอดลงในขวดทำปฏิกิริยา เอียงขวดให้ดินเข้ากับน้ำยา 3)ใส่น้ำยาเบอร์ 2  ลงในขวดทำปฏิกิริยา 1หลอด เอียงขวดไปมาให้ดินเข้ากับน้ำยา  ตั้งทิ้งไว้ 15 นาที  4) ใช้หลอดดูดน้ำกรองเบอร์ 3 ใส่ลงในขวดทำปฏิกิริยา 10 มิลลิลิตร  เอียงขวดไปมาให้สารละลายเข้ากัน ทิ้งไว้ 30 นาที หรือจนกว่าสารละลายเย็น  5) ใช้หลอดดูดน้ำสี ดูดสารละลายใสที่อยู่ด้านบน 0.5 มิลลิลิตรหยอดลงในถาดหลุม  6)นำแผ่นเทียบสีมาตรฐานมาเปรียบเทียบ สีของสารละลาย  ค่าที่ได้จะออกมาเป็นช่วง โดยมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งบ่งบอกถึงระดับอินทรียวัตถุในดินที่ต่างกัน แปดระดับ ตั้งแต่ต่ำมาก ถึงระดับสูง

ขั้นตอน1-3

ขั้นตอน4-6

ภาพขั้นตอนการใช้ชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดิน

รวมสี-ตาราง

ชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดินภาคสนาม(Soil Organic Matter Test Kit)
วัตถุประสงค์ ชุดตรวจสอบแบบรวดเร็ว ใช้ตรวจวัดปริมาณอินทรียวัตถุในดินได้รวดเร็ว
ประโยชน์ ใช้ตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดิน  เพื่อประเมินความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
คุณลักษณะ ชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดินใช้สำหรับการวัดค่าปริมาณอินทรียวัตถุ เป็นช่วงตั้งแต่ต่ำมาก ( 0 -0.59 % OM) ต่ำ (0.60 – 1.59 % OM) ปานกลาง ( 1.60 -3.50% OM) และ สูง ( มากกว่า 3.50 % OM)  โดยสามารถเทียบกับแถบสีมาตรฐานของชุดตรวจสอบได้ 
อายุและการเก็บรักษา  มีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี ใช้ทดสอบได้ 10 ครั้ง สามารถซื้อน้ำยาอะไหล่เพิ่มเติมได้
ข้อควรระวัง สารเคมีที่ใช้เป็นสารเคมีอันตราย ต้องศึกษาวิธีการใช้งานโดยละเอียด ก่อนการใช้

ชุดตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในดินมก. นี้ได้ยื่นจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ แล้ว เมื่อ 14 สิงหาคม 2556   เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ เพื่อตรวจสภาพดินเบื้องต้นได้เอง สามารถทราบผลการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว   แม่นยำ ทำให้สามารถประเมินการใส่ปุ๋ยในไร่นาได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลา  ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร

ดร.เสาวนุช

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร.เสาวนุช  ถาวรพฤกษ์ 

โครงการพัฒนาวิชาการ ดิน ปุ๋ย และสิ่งแวดล้อม

ภาควิชาปฐพีวิทยา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2561-4670

โทรสาร 0-2942-8045

เว็บไซต์ http ://www . soiltest-ku.agr.ku.ac.th

เรื่องโดย : วันเพ็ญ นภา

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมก.

rdiwan@ku.ac.th