องค์ประกอบทางชีวเคมีตลอดวงจรการลอกคราบของปูทะเล

14182198

ปูทะเล ( Scylla serrata) จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เป็นอาหารที่มีราคาสูง
เนื้อดี มีรสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูง ปูทะเลมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ โดยจะลอกคราบตลอดทั้งปีและตลอดชีวิต ช่วงเวลาในการลอกคราบขึ้นอยู่กับอายุและขนาด ถ้ามีอายุมากระยะเวลาในการลอกคราบแต่ละครั้งจะนานขึ้น ระยะที่ปูมีการลอกคราบถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตและเสี่ยงอันตรายที่สุดของปูเนื่องจากมีความอ่อนแอและพร้อมที่จะถูกทำร้ายจากสัตว์อื่นได้ง่าย

ดร. จินตนา สะและน้อย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบทางชีวเคมีได้แก่ ปริมาณโปรตีน สารสี (คาร์โรทีนอย) ไคติน และกรดไขมัน ในอวัยวะที่สำคัญในวงจรของปูทะเล จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางชีวเคมีของปูพบว่า

  1. เนื้อเยื่อใต้กระดองปูเป็นจุดที่พบคาร์โรทีนอยมากที่สุด โดยเนื้อเยื่อใต้กระดอง เหงือกและเลือดของปูทะเลมีคาร์โรทีนอยชนิดเดียวกันเป็นองค์ประกอบนั่นคือ แอสทาแซนทิน เบต้าแคโรทีนและซีแซนทิน
  2.  รูปแบบการสะสมไคตินในกระดอง ก้ามและขาเดินของปูทะเลตลอดวงจรการลอกคราบมีลักษณะเหมือนกัน คือระยะก่อนลอกคราบปริมาณไคตินจะมีค่าลดลงจากปริมาณที่พบในระยะกระดองแข็งปกติ และไคตินจะถูกดึงมาสะสมอย่างรวดเร็วและจะเพิ่มขึ้นจนถึงค่าสูงสุดที่ระยะหลังลอกคราบ 6 ชั่วโมง ขาเดินของปูทะเลเป็นปริมาณที่มีการสะสมไคตินมากที่สุด
  3. กรดไขมันที่พบในเหงือก เนื้อเยื่อใต้กระดอง ตับ เนื้อ และเลือดของปูทะเลระยะกระดองแข็งปกติประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่ และกรดไขมันที่มีพันธะคู่มากกว่า 1 พันธะ
  4. ปริมาณโปรตีนในเลือดระยะก่อนลอกคราบ 1 สัปดาห์เป็นช่วงที่มีโปรตีนมากที่สุด ระยะที่ปูกระดองแข็งจนถึงก่อนการลอกคราบปริมาณโปรตีนไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง แต่หลังการลอกคราบปริมาณโปรตีนจะลดลง ส่วนปริมาณโปรตีนในเนื้อค่อนข้างมีความผันผวนตลอดวงจรการลอกคราบ

ซึ่งจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานองค์ประกอบทางชีวเคมีในปูทะเลตลอดวงจรการลอกคราบ และนำไปสู่การอธิบายหน้าที่ทางสรีระวิทยาในด้านที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดทำฟาร์มปูนิ่มและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรที่เลี้ยงปูต่อไปในอนาคต

เรียบเรียงโดย กาญจนา อนุพันธ์