มก. คัดเลือกจังหวัดตราดวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

DSC09985
          10 ต.ค.57 ที่ห้องสัมมนาเรือนใหญ่ โรงแรมเหลายาอินแลนด์รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดตราด นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จังหวัดตราด โดยมี ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย กล่าวรายงาน โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้าร่วมประชุม รับฟังความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดตราด ประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จังหวัดตราด โดย ผศ.ดร.แสงสรรค์ ภูมิสถาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุทยาน นันทนาการ และการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การระดมความคิดเห็น พิจารณาตัวชี้วัดการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ,ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในมุมมองของจังหวัดตราด เป็นต้น
          ศาสตราจารย์ ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการส่งเสริมการวิจัยบูรณาการเชิงพื้นที่ ได้คัดเลือกจังหวัดตราดและจังหวัดระนอง เป็นพื้นที่นำร่องการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยร่วมกับสถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “จังหวัดตราดกับโจทย์การวิจัยที่ท้าทายเพื่อการปรับตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ที่บ้านปูรีสอร์ท แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรและปศุสัตว์ ประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 2)กลุ่มการท่องเที่ยว บริการและการค้า 3) กลุ่มสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม และ 4)กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับปีงบประมาณ 2557 ได้เสนอโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จังหวัดตราด” และได้จัดประชุมชี้แจงโครงการฯ พร้อมรับทราบแนวความคิดและระดมสมองจากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาในครั้งนี้

ด้านนายณรงค์ ธีรจันทรางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มีเกาะน้อยใหญ่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สำคัญตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าตากสิน จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีร่องรอยให้ประวัติศาสตร์หลงเหลือให้ศึกษาและเรียนรู้ ประเพณีภูมิปัญญาดั้งเดิม ลักษณะชีวิตเรียบง่ายของชุมชนเก่าแก่และความหลากหลายของชนชาติ วิถีชีวิตของชาวบ้านป่าชายเลน วิถีชีวิตชาวประมง เป็นต้น ทำให้การท่องเที่ยวจังหวัดตราดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้มหาศาล แต่การท่องเที่ยวยังคงกระจุกตัวอยู่ตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในขณะที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ได้มีแนวคิดในการวิจัยเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตราดบนฝั่งภายใต้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของการท่องเที่ยว รองรับการขยายตัวการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป จังหวัดตราดยินดีอย่างยิ่งและหวังว่าข้อมูลวิจัยจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดตราดในอนาคต

ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : สนธยา จงพันธนิมิตร
Rewriter : มณีรัตน์ ชาญชัยศิลป์
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th