รายการวิทยุเรื่อง “การพัฒนาเครื่องมือวัดอัตราการไหลในคลองชลประทานระบบแสงเลเซอร์”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=l9H1TXs7AFU[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่9 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง  การพัฒนาเครื่องมือวัดอัตราการไหลในคลองชลประทานระบบแสงเลเซอร์

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา 

……………………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

 สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดี…คุณผู้ฟังครับ ช่วงนี้ก็เริ่มเข้าฤดูฝนกันแล้วนะครับ และสิ่งที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ นั่นก็คือ การจัดการระบบน้ำ การตรวจวัดอัตราการไหลของน้ำซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือตรวจวัดอัตราการไหลของกระแสน้ำมากมายครับ แต่มีราคาสูงมากทำให้ไม่ได้รับความนิยมใช้กัน โดยทั่วไปแล้วจะใช้การวัดความลึกของระดับน้ำแล้ว จึงนำไปเปรียบเทียบกับ Rating Curve คือ การวัดระดับน้ำที่ก่อนและหลังบานประตูระบายน้ำแล้วนำมาปรับเทียบเป็นค่าปริมาณการไหล จากกราฟอัตราการไหล เพื่อแปลงค่าระดับน้ำให้เป็นอัตราการไหล ซึ่งวิธีนี้ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์สูงครับ

และในการตรวจวัดอัตราการไหลโดยใช้ระบบแสงเลเซอร์ความเข้มต่ำ มีทฤษฎีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ภาพการเคลื่อนที่ของตะกอน วิธีการนี้มีความแม่นยำสูง สามารถนำมาพัฒนาใช้ในการวัดอัตราการไหลของน้ำในคลองชลประทานได้ ในเบื้องต้นของโครงการวิจัยนี้ได้ทำการพัฒนาโปรแกรม เพื่อตรวจวัดความเร็วของการเคลื่อนที่ของตะกอนในน้ำตัวอย่าง โดยใช้แสงเลเซอร์ที่มีคุณสมบัติการหักเหต่ำเป็นตัวช่วยในการถ่ายภาพการเคลื่อนที่ การประมวลผลของโปรแกรมสามารถบอกเป็นความเร็วการเคลื่อนของตะกอนที่ต่อเวลาได้

คุณผู้ฟังครับ ในปัจจุบันนี้ ปริมาณประชากรของประเทศมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการกระจายตัวไปทั่วทุกๆพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญที่สร้างผลิตผลเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเกษตรกรรมเพิ่มมาขึ้นล้ว จึงทำให้ปัญหาของความต้องการน้ำ และการบริหารจัดการน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับครับ การบริการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่มาจากการขาดน้ำหรือน้ำมากเกินไป อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ครับ

และปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยคุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าเกิดจากอะไร นั่นก็คือ การขาดข้อมูลปริมาณน้ำที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ การตรวจวัดอัตราการไหลของน้ำในคลองชลประทาน ซึ่งการตรวจวัดอัตราการไหลจะเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการน้ำ เป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณน้ำที่มีและความต้องการน้ำของแต่ละพื้นที่ การตรวจวัดปริมาณการไหลในจุดต่างๆจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรปริมาณน้ำได้อย่างถูกต้อง การตรวจวัดน้ำของกรมชลประทานตามคลองชลประทานต่างๆทั่วประเทศยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ และไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่จะสามารถนำมาใช้และทำนายสถานการณ์ปริมาณน้ำได้ ทางกรมชลประทานจึงมีการนำเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติมาใช้เพื่อจะช่วยในการเก็บข้อมูลเป็นประจำอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเครื่องมือที่ตั้งนำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาสูง และจำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญควบคุมดูแลระบบ ทำให้ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ระบบอัตโนมัติจึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก และยังมีปัญหาความไม่ถูกต้องของระดับน้ำเนื่องจากการเปิดปิดบานประตูระบายท้ายน้ำซึ่งจะอธิบายในการวัดน้ำต่อไปครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

            กลับมาฟังกันต่อนะครับ ในการตรวจวัดปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีบทบาทความสำคัญมากต่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ การตรวจวัดปริมาณน้ำที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพและช่วยป้องกันหรือทุเลาความรุนแรงของภัยพิบัติทางน้ำที่จะเกิดขึ้นได้ครับ

วิธีการตรวจวัดปริมาณน้ำในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธีครับ แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันออกไป ประสิทธิภาพและความง่ายในการใช้งานจะแปรผันตามราคาของเครื่องมือ โดยทั่วไปราคาเครื่องมือวัดปริมาณน้ำที่มีขายในตลาดมีราคาสูงมาก เพราะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ การพัฒนาเครื่องมือวัดที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้การตรวจวัดปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

คุณผู้ฟังครับ การตรวจวัดปริมาณน้ำในคลองชลประทานสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกันครับ เช่น

1.การวัดความลึกของระดับน้ำที่หน้าตัดใดๆ แล้วนำความลึกของน้ำมาหาพื้นที่หน้าตัดของคลอง จากนั้นนำความลึกและพื้นที่หน้าตัดมาเข้าสมการการไหลเพื่อคำนวณเป็นอัตราการไหลครับ

2.การวัดระดับน้ำที่ก่อนและหลังบานประตูระบายน้ำแล้วนำมาปรับเทียบเป็นค่าปริมาณการไหล จากกราฟอัตราการไหลหรือที่เรียกว่า Rating Curve นั่นเองครับ

3.การวัดอัตราการไหลจากระดับน้ำที่ไหลข้ามฝายสันคม ที่มีการเทียบวัดค่าอัตราการไหลมาแล้ว จากนั้นนำระดับที่ได้มาเทียบวัดเป็นอัตราการไหล ในสถานการณ์จริงการคำนวณอัตราการไหลจากสมการการไหลโดยใช้ค่าระดับน้ำ(วิธีที่1.) จะมีจุดอ่อนที่สมการไม่ได้มีการครอบคลุมตัวแปรฝันทางธรรมชาติและความแตกต่างทางพื้นที่มากมาย จึงทำให้ค่าที่คำนวณได้มีความผิดพลาดสูง ดังนั้นสมการการไหลจะสามารถใช้ได้เมื่อมีการปรับแก้ตัวแปรผันทางธรรมชาติและมีการปรับแก้เพื่อให้เข้ากับสถานที่นั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงการที่จะควบคุมตัวแปรฝันทางธรรมชาติสามารถทำได้ยาก และการปรับแก้สมการเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำการทดสอบและตรวจวัด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สิ้นเปลืองเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายมากเป็นอย่างมาก อีกทั้งจะต้องทำการตรวจสอบเป็นประจำเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำครับ

คุณผู้ฟังครับ ดังที่กล่าวในขั้นต้นว่าการคำนวณอัตราการไหลจากสมการที่ใช้ค่าความลึกมีความผิดสูง อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การคำนวณปริมาณการไหลของน้ำในคลองชลประทานผิดพลาด นั่นก็คือ ผลกระทบจาก Shot Channel Effect และ Back Water Effect ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ ระดับน้ำในคลองสูงขึ้นจากการปิดหรือลดระดับบานประตูท้ายน้ำ แต่ปริมาณการไหลของน้ำลดลง เนื่องมาจากระยะทางการไหลในคลองมีขนาดความยาวไม่เพียงพอที่จะหลีกเลียงผลกระทบนี้ ทำให้ไม่สามารถคำนวณปริมาณการไหลที่แท้จริงได้โดยใช้ความลึกของระดับน้ำครับ

การคำนวณอัตราการไหลจากระดับน้ำก่อนและหลังฝาย เป็นวิธีที่มีการใช้อย่างแพร่หลายตามจุดวัดน้ำต่างๆครับ วิธีนี้จะต้องมีการปรับเทียบค่าอัตราการไหลกับระดับการเปิดบานประตูระบายน้ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเทียบวัดกับค่าอัตราการไหลที่แท้จริงเป็นประจำทุกๆ 5-7 ปีเพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอน ค่าที่ได้จะมีจำนวนน้อยเพราะสถานีวัดน้ำและประตูน้ำมีจำนวนน้อย เมื่อเราเทียบกับจำนวนคลองชลประทานที่มีอยู่ ทำให้ข้อมูลไม่เพียงพอในการวิเคราะห์การจัดการและหาน้ำในพื้นที่นั้นๆครับคุณผู้ฟัง

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟัง ความจำเป็นในการใช้เครื่องมือวัดความเร็วของกระแสน้ำ จึงเข้ามามีบทบาทต่อการคำนวณปริมาณการไหล การคำนวณอัตราการไหลจะสามารถทำได้โดยนำพื้นที่หน้าตัดการไหลคูณกับความเร็วการไหล วิธีนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำของการคำนวณอัตราการไหล และยังแก้ไขปัญหาจากปรากฏการณ์ Shot Channel Effect และ Back Water Effectได้ โดยเมื่อระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากการลดระดับบานประตู อัตราการไหลจะลดลงส่งผลให้ความเร็วของการไหลก็จะลดลงตามลงมา ฉะนั้นถึงแม้ว่าพื้นที่การไหลเพิ่มขึ้นแต่ถ้าสามารถบอกความเร็วของกระแสน้ำที่ลดลงได้ ก็จะสามารถคำนวณปริมาณการไหลที่แท้จริงได้ครับ

การวัดน้ำที่มีใช้ในประเทศไทยมีหลากหลายวิธี โดยส่วนมากจะเป็นการวัดความลึกเพื่อนำไปคำนวณหาอัตราการไหลจาก Rating Curve การวัดความลึกจะสามารถกระทำได้หลายวิธีแต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันแสดงข้างล่าง

คุณผู้ฟังครับ จากการที่ได้พิจารณาข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือวัดความลึกและความเร็วน้ำแล้ว งานวิจัยนี้จะทำการศึกษาเครื่องมือวัดน้ำที่มีโดยใช้หลักการของเลเซอร์ หรือ Laser Velocimetry ซึ่งมีความสามารถในการวัดความลึกและความเร็วของกระแสน้ำได้

คุณผู้ฟังครับ การใช้แสงเลเซอร์วัดความลึกของน้ำจะอาศัยหลักการทำงานเดียวกับเครื่องวัดระยะทางโดยเลเซอร์ ทำงานโดยการส่งคลื่นแสงเลเซอร์จากผิวน้ำลงไปยังท้องน้ำเป็นจังหวะๆ เลเซอร์ก็จะสะท้อนพื้นท้องน้ำกลับมาขึ้นมาเข้าตัวรับสัญญาณที่ผิวน้ำ ระยะทางหรือความลึกจะคำนวณได้จากเวลาที่ใช้ในการเดินทางแล้วหารด้วยสอง ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อจำกัดดังนี้ครับ

1.ความสามารถในการสะท้อนของแสงเลเซอร์จะขึ้นอยู่กับชนิดของพื้นผิวคลอง

2.ปริมาณตะกอนในน้ำจะมีผลโดยตรงกับการสะท้อนของแสงเลเซอร์ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการเลือกวิธีและความถี่ในการฉายแสงเลเซอร์ที่เหมาะสม

 

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ เข้าเรื่องกันเลยนะครับ การใช้แสงเลเซอร์ในการตรวจวัดปริมาณน้ำ

นั่นก็คือว่าการใช้แสงเลเซอร์ในการตรวจวัดมีข้อดีคือสามารถวัดได้ทั้งความเร็วและระดับน้ำและสามารถทำได้หลายวิธี โดยทั้งหมดมีหลักการเบื้องต้นคือ การฉายแสงเลเซอร์ไปยังน้ำที่มีปริมาณตะกอนเป็นส่วนประกอบ แสงเลเซอร์จะสะท้อนตะกอนที่อยู่ในน้ำ ตำแหน่งของตะกอนจะถูกบันทึกโดยกล้องถ่ายภาพหรือกล้องวีดีโอ มีการบันทึกภาพจะทำเป็นระยะๆที่เวลาต่างกัน ข้อมูลภาพจะถูกส่งเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการวิเคราะห์ตำแหน่งของตะกอนที่เวลาใดๆ ซึ่งเป็นการคำนวณความเร็วจะทำโดยนำระยะทางการเคลื่อนที่ของตะกอน โดยรวมมาคำนวณเป็นระยะทางเฉลี่ยของแกนที่คำนวณได้หารด้วยเวลาที่แตกต่างกัน ตัวอย่างวิธีการใช้แสงเลเซอร์ในการวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของตะกอนเช่น Laser DopplerAnemometry (LDA) Digital Particle Image Velocity (DPIV) Digital Particle Tracking Velocimetry (DPTV) Holographic Particle Image Velocimetry (HPIV) Doppler Global Velocimetry(DGV)/Planar Doppler Velocimetry(PDV) โดยทั้งหมดนี้จะมีขนาดของตะกอนในน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวัดความเร็ว ขนาดของตะกอนที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไปเป็นสิ่งสำคัญต่อการวัดความเร็ว เพราะถ้าตะกอนมีขนาดเล็กจนเกินไปจะทำให้ยากต่อการจับภาพและติดตาม ในอีกทางหนึ่งคือถ้าตะกอนมีขนาดใหญ่จนเกินไป ความเร็วของตะกอนก็อาจจะไม่ใช้ความเร็วของการไหลที่แท้จริงนั่นเองครับ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงจะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่มาก  และพบว่าตะกอนควรจะมีขนาดประมาณ 1-50 micron ในน้ำ จึงจะเหมาะสมต่อการวัดความเร็ว ซึ่งตะกอนประเภทนี้เป็นตะกอนประเภท Sediment load ซึ่งเป็นชนิดตะกอนที่มีอยู่ทั่วไปในน้ำคลอง

และวิธีการทดลองได้ดำเนินการถ่ายภาพตะกอนเคลื่อนที่ในภาชนะและใช้การฉายแสงเลเซอร์การทดลองได้ใช้อุปกรณ์ กล้องถ่ายภาพวิดีโอที่มีกำลังขยาย 20 ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองวิธีดังนี้

1.ฉายแสงเลเซอร์เข้าหาตะกอนโดยตรง การจำลองภาพการฉายแสงโดยตรงใน รูปที่ 3.2 แสงจะสะท้อนตะกอนเข้าหากล้อง วิธีนี้จะได้ภาพที่มีตัวตะกอนสีแดงและฉากพื้นหลังสีดำ

2.วิธีฉายแสงสะท้อน การจำลองภาพการฉายแสงสะท้อนในรูปที่ 3.4 แสงจะสะท้อนเข้าจากด้านหลังภาพซึ่งทำให้ได้ภาพพื้นสีแดงตะกอนสีดำ

วิธีการทั้งสองวิธีนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการจัดการข้อมูลเบื้องต้น (Pre-Process Data) ในโปรแกรมส่วนที่ 1 เนื่องจากรูปแบบการจัดการสี ความเข้ม และแสงจะแตกต่างกันออกไป และส่งผลถึงความสามารถในการอ่านข้อมูลของโปรแกรมส่วนที่ 2 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างตะกอนกับฉากพื้นด้านหลังของภาพที่บันทึกได้ครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ ในการวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาโปรแกรมเพื่อใช้ในการคำนวณอัตราการเคลื่อนที่ของความเร็วการไหลโดยใช้การวัดการเคลื่อนที่ของตะกอนในน้ำโดยมีความสามารถในการตรวจจับความแตกต่างในการเคลื่อนที่ของตะกอนในรูปแบบของทิศทางและขนาดของการเคลื่อนที่ แล้วสามารถแปรผลเป็นค่าความเร็วต่อเวลาที่ใช้เคลื่อนที่ได้

ตัวโปรแกรมจะมีโครงสร้างการทำงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

1. ข้อมูลเบื้องต้น (Pre-process and acquiring data ) ประกอบด้วย

– นำภาพจากเซ็นเซอร์รับภาพส่งเข้ามาสู่เครื่องคอมพิวเตอร์

– ทำการปรับค่าต่างๆเช่น ขนาด, ความเข้มแสง, สี, และความคมชัดของภาพให้สามารถนำมาวิเคราะห์การไหลได้

– ทำการเลือกพื้นที่ที่จะทำการวิเคราะห์ออกจากส่วนที่อยู่นิ่ง

 

2.การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Process and Analysis)

– อ่านค่าระดับสีที่ได้จากภาพในรูปของ RGB ทั้งก่อนการเคลื่อนที่และหลังการเคลื่อนที่

– เชื่อมต่อพิกัดหลักในภาพเพื่อการคำนวณขนาดการเคลื่อนที่และความเร็วของการเคลื่อนที่ของความเปลี่ยนแปลงค่าสี

– ประมวลผลของข้อมูลภาพ ใช้ระบบการประมวลผลข้อมูลแบบหลายรอบและขนาดของข้อมูล

– ตรวจสอบความคลาดเคลื่อนและความผิดพลาดในการคำนวณแล้วทำการตัดส่วนที่ผิดพลาดออกจากกลุ่ม

– วิเคราะห์ข้อมูลแล้วทำการปรับแก้ข้อมูล

– เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความเร็ว พิกัด ทิศทาง ของความเร็วที่จุดต่างๆ

คุณผู้ฟังครับ จากผลการทดสอบประสิทธิภาพของโปรแกรม ในการตรวจวัดความเร็วการไหลของน้ำโดยวิธีการวัดเคลื่อนที่ของอนุภาคในน้ำ โดยใช้แสงเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง โดยการทดลองภายในห้องปฏิบัติการชลศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน ได้ผลการเคลื่อนที่ของอนุภาคที่สามารถใช้เป็นตัวแทนของการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำได้ การเคลื่อนที่ของตะกอนในน้ำมีความแปรปรวนของทิศทางและความเร็วเนื่องมาจากขนาด

และการเปรียบเทียบค่าที่ได้จากการคำนวณโดยโปรแกรมกับค่าที่ได้จากการประมาณวัดการเคลื่อนที่โดยการแบ่งตารางและนับปริมาณการเคลื่อนที่จริงพบว่า เซ็นเซอร์ที่ใช้มีจุดที่ภาพมีความคมชัดในพื้นที่โฟกัสมีความกว้างทำให้ค่าการเคลื่อนที่ในแกนราบมีการแปรปรวนสูง แสดงให้เห็นว่าความกว้างของพื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสมีอยู่ในระหว่าง 1 – 2 ซม. ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกตะกอนได้ว่าอยู่ในระยะใดทำให้ไม่สามารถระบุระยะที่แท้จริงได้การประมาณค่าที่ได้จึงมีความคลาดเคลื่อนสูง ซึ่งปัญหาที่พบคือเซ็นเซอร์มีระยะโฟกัสกว้างต้องใช้การประมาณค่าในการหาค่าเฉลี่ยความเร็วการเคลื่อนที่ของตะกอน ซึ่งเซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าจะมีราคาสูงมากจึงไม่สามารถนำมาทดลองได้ครับ

อีกปัญหาที่พบคือความไวแสงของเซ็นเซอร์ที่ใช้มีความไวแสงไม่เพียงพอต่อความเร็วของน้ำในคลองชลประทานคือ ประมาณ 80-200 ภาพ/วินาที ถึงแม้ว่าจะเพิ่มจำนวนแหล่งกำเนิดแสงแล้วก็ตาม ซึ่งถ้าเปลี่ยนเซ็นเซอร์ให้มีความไวแสงมากขึ้นและมีความเร็วภาพมากขึ้นถึงระดับ 200-600 ภาพ/วินาทีจะสามารถใช้วัดความเร็วในช่วงดังกล่าวได้

ระดับน้ำที่ลึกขึ้นจะมีผลต่อการวัดความเร็ว เพราะตะกอนที่ขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อระดับน้ำลึกมากๆหรือที่เรียกตะกอนท้องน้ำจะมีขนาดใหญ่มากกว่าตะกอนที่ผิวน้ำจะทำให้ค่าที่ได้จากการคำนวณไม่เท่ากันเพราะตะกอนท้องน้ำใช้การกระโดดในการเคลื่อนที่ไปตามกระแสน้ำจะมีความเร็วเฉลี่ยของการเคลื่อนที่น้อยกว่าตะกอนแขวงลอยที่ลอยไปตามน้ำทำให้ค่าความเร็วที่วัดได้มีค่าแตกต่างกับออกไปครับ

จากผลการวัดความเร็ว ค่าความเร็วที่ได้ระหว่างโปรแกรมและวัดจริงมีค่าอยู่ในช่วงเดียวกันนี้มีความแปรปรวนมากขึ้น เมื่อความเร็วของการไหลเพิ่มมากขึ้น การวัดในทางน้ำมีการกระจายตัวของความเร็วมากกว่าเนื่องมาจากมีความเร็วของการไหลมากกว่าการวัดความเร็วในถังน้ำ และจากการศึกษา พัฒนาผลงานวิจัยนี้ขึ้นมา เพื่อจัดการบริหารน้ำได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำในการประกอบอาชีพ หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….