เสาสูง 117 เมตร ตรวจวัดคุณภาพอากาศและลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน แห่งแรกของประเทศไทย

DSC_1016

DSC_1039 DSC_1052

ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแถลงข่าวเรื่อง เสาสูง 117 เมตร ตรวจวัดคุณภาพอากาศและลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 14.00-16.00 น. เสาสูงดังกล่าวนับเป็นเสาสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ใช้สำหรับการตรวจวัดเข้มข้นของมลสารทางอากาศ และวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ระดับความสูงจากระดับพื้นดินแตกต่างกัน พร้อมทั้งติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการพยากรณ์สภาพอากาศ

การตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วและทิศทางลม บนเสาสูง 117 เมตร จะทำการเก็บตัวอย่างตรวจวัดลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาที่ระดับความสูงแตกต่างกัน 5 ระดับ ที่ความสูง  10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร รวมทั้งความกดอากาศ และปริมาณรังสีดวงอาทิตย์สุทธิ และแบบต่อเนื่อง
24 ชั่วโมง  สำหรับการตรวจวัดความเข้มข้นของมลสาร ในบรรยากาศบนเสาสูง 117 เมตร จะทำการเก็บตัวอย่างตรวจวัดลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาที่ระดับความสูงที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ที่ความสูง  30, 75  และ 110 เมตร ของฝุ่นละออง SO2, NO2,  CO และ CH4 แบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดมวลของก๊าซเรือนกระจก (CO2) ที่เคลื่อนที่ผ่านหน่วยของพื้นที่ต่อเวลา (Flux) และเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองบนเสาสูง และพื้นที่ศึกษาภาคสนาม โดยอาศัยเทคนิคการตรวจวัดแบบความละเอียดสูง (High resolution technique) เพื่อทำการเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของฝุ่นละอองในรอบวัน  หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้

1) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพฤติกรรมนิยมวิทยาใกล้ผิวดินในรอบวันและฤดูกาล

2) วิเคราะห์สมดุลรังสีดวงอาทิตย์ (Energy balance) และความร้อนที่โลกนำไปใช้

3) วิเคราะห์ความเข้ม (Flux) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ

4) วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (ขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร) ในบรรยากาศที่ระดับความสูงแตกต่างกัน

ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะได้ฐานข้อมูลลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน  มลสารในบรรยากาศของเขตกรุงเทพมหานคร และความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะ/ความเข้มข้นของมลสารที่มีต่อลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินในเขตเมือง

เรียบเรียงโดย กัญญารัตน์ สุวรรณทีป สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.