รายการวิทยุเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=rvxrvdXcbmw[/youtube]

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 26 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา 

……………………………………………………………………………

 -เพลงประจำรายการ-

           สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก.แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

วันนี้เราจะมารู้จักกับพืชไร่ชนิดหนึ่ง ที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมายในท้องตลาด พืชชนิดนี้ก็คือ ข้าวโพดนั่นเองครับคุณผู้ฟัง ข้างโพดเป็นพืชจำพวกหญ้า รากชั่วคราว เรียกว่า ไพรี หลังจากข้าวโพดเจริญเติบโตได้ประมาณ 7 – 10 วัน รากถาวรจะงอกขึ้นรอบๆ ข้อปลาในระดับใต้พื้นดินประมาณ 1-2 นิ้ว รากถาวรนี้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะแผ่ออกไปโดยรอบประมาณ 100 เซนติเมตร รากของข้าวโพดเป็นระบบรากฝอย นอกจากรากที่อยู่ใต้ดินแล้ว ยังมีรากยึดเหนี่ยว ซึ่งเกิดขึ้นรอบ ๆ ข้อที่อยู่ใกล้ผิวดิน มีลำต้นตั้งตรงแข็งแรง เนื้อภายในฟ่ามคล้ายฟองน้ำสูงประมาณ 1.4 เมตร ลำต้นมีข้อ และปล้อง  ปล้องที่อยู่ในดินและใกล้ผิวดินสั้น และจะค่อย ๆ ยาวขึ้นไปทางด้านปลาย ปล้องเหนือพื้นดินจะมีจำนวนประมาณ 8-20 ปล้อง ลำต้นสดมีสีเขียว ใบ ยาวรี เป็นเส้นตรงปลายแหลม ยาวประมาณ 30-100 ซม. เส้นกลางของใบจะเห็นได้ชัด ตรงขอบใบมีขนอ่อนๆ มีเขี้ยวใบ ลักษณะของใบรวมทั้งสีของใบแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ บางพันธุ์ใบสีเขียว บางพันธุ์ใบสีม่วงและบางพันธุ์ใบลาย จำนวนใบก็เช่นเดียวกันอาจมีตั้งแต่ 8-48 ใบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้อยู่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกตัวเมียอยู่ต่ำลงมาอยู่ระหว่างกาบของใบ และลำต้น ช่อดอกตัวผู้ อยู่ตอนบนสุดของลำต้น ดอกตัวผู้ดอกหนึ่งจะมีอับเกสร 3 อัน ส่วนดอกตัวเมียอยู่รวมกันเป็นช่อ เกิดขึ้นตอนข้อกลาง ๆ ลำต้น ฝักเกิดจากดอกตัวเมียที่เจริญเติบโตแล้ว ฝักอ่อนจะมีสีเขียว พอแก่เป็นสีนวลครับคุณผู้ฟัง

สำหรับในประเทศไทย คนไทยรู้จักนำข้าวโพดมาเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำข้าวโพดพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นยังเป็นที่รู้จักกันน้อย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเริ่มแพร่หลายขึ้นเนื่องจาก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาเริ่มสาธิต และกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามผู้เลี้ยงไก่จึงรู้จักใช้ข้าวโพดมากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากระยะนั้นข้าวโพดมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงใช้เป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์รู้จักข้าวโพดกันทั่วไป และในปัจจุบันประเทศไทยได้ปลูกข้าวโพดในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ หัวหน้าโครงการ ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ หน่วยงานต้นสังกัด ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร บางเขน ได้ทำการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูปครับ เรามาแยกประเภทของข้าวโพดกันก่อนน่ะครับ

โดยทั่วไปข้าวโพดจะจัดออกเป็น 5 กลุ่ม น่ะครับคุณผู้ฟัง

  1. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ ที่รู้จักในปัจจุบันเช่นข้าวโพดหัวบุ๋ม และข้าวโพดหัวแข็ง ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะเมล็ดข้าวโพดหัวบุ๋มหรือหัวบุบ ข้าวโพดชนิดนี้เมื่อเมล็ดแห้งแล้วตรงส่วนหัวบนสุดจะมีรอยบุ๋มลงไป ซึ่งเป็นส่วนของแป้งสีขาว ข้าวโพดชนิดนี้สำคัญมากและนิยมปลูกกันมากใน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะทางแถบคอร์นเบลท์ สีของเมล็ดมีตั้งแต่ขาวไปจนถึงเหลือง เนื่องจากมีหลายสายพันธุมีโปรตีนน้อยกว่าพวกข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดพันธุ์นี้ส่วนขนสุดของเมล็ดมักมีสีเหลืองจัดและเมื่อแห้งจะแข็งมาก ภายในเมล็ดมีสารที่ทำให้ข้าวโพดมีสีเหลืองจัดเป็นสารให้สีที่ชื่อ คริปโตแซนทีน สารนี้เมื่อสัตว์ได้รับร่างกายสัตว์จะเปลี่ยนสารนี้ให้เป็นไวตามินเอ นอกจากนี้สารนี้ยังช่วยให้ไข่แดงมีสีแดงเข้ม ช่วยให้ไก่มีผิวหนัง ปาก เนื้อ และแข้งมีสีเหลืองเข้มขึ้น เป็นที่นิยมของตลาดโดยเฉพาะแถบอเมริกาส่วนอังกฤษนั้นนิยมใช้ข้าวโพดขาว ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์กัวเตมาลา พียี 12 (Rep.1) กัวเตมาลา พีบี 12 (Rep.2) พีบี 5 ข้าวโพดเหนียว และโอเปค-2 มีเมล็ดตั้งแต่สีขาว สีเหลืองไปจนถึงสีแดง ขนาดของเมล็ดขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ในช่วง 0.5-0.8 ซม. ก่อนนำมาเลี้ยงสัตว์จึงต้องบดก่อนเพื่อ ช่วยให้การย่อยและการผสมได้ผลดีขึ้น ที่บดแล้วจะมีขนาดประมาณ 1-8 มม. ครับคุณผู้ฟัง

  1. ข้าวโพดหวาน เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดมักจะใสและเหี่ยวเมื่อแก่เต็มที่ เพราะมีน้ำตาลมาก ก่อนที่จะสุกจะมีรสหวานมากกว่าชนิดอื่น ๆ จึงเรียกข้าวโพดหวาน มีหลายสายพันธุ์ครับ

  2. ข้าวโพดคั่ว เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดค่อนข้างแข็ง สีดีและขนาดแตกต่างกัน สำหรับต่างประเทศ ถ้าเมล็ดมีลักษณะแหลมเรียกว่า ข้าวโพดข้าว ถ้าเมล็ดกลม เรียกว่า ข้าวโพดไข่มุก

  3. ข้าวโพดแป้ง เมล็ดมีสีหลายชนิด เช่น ขาว (ขุ่น ๆ หรือปนเหลืองนิด ๆ) หรือสีน้ำเงินคล้ำ หรือมีทั้งสีขาวและสีน้ำเงินคล้ำในฝักเดียวกัน เนื่องจากกลายพันธุ์ พวกที่มีเมล็ดสีคล้ำและพวกกลายพันธุ์เรียกว่าข้าวโพดอินเดียนแดง หรือเรียกได้อีกชื่อว่าข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง พวกข้าวโพดสีคล้ำนี้จะมีไนอาซีน สูงกว่าข้าวโพดที่มีแป้งสีขาว

  4. ข้าวโพดเทียน เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน จะมีแป้งที่มีลักษณะเฉพาะคือ นุ่มเหนียว เพราะในเนื้อแป้งจะประกอบด้วยแป้งพวกแอมมิโลเปคติน (Amylopectin) ส่วนข้าวโพดอื่น ๆ มีแป้งแอมมิโลส (Amylose) ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้แป้งค่อนข้างแข็ง

 -เพลงคั่นรายการ-

           คุณผู้ฟังครับ วันนี้กระผมจะมาพูดถึงข้าวโพดหวานน่ะครับ เป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศไทยเลยทีเดียวครับคุณผู้ฟัง เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปบรรจุกระป๋อง แบบบรรจุทั้งเมล็ด   ข้าวโพดครีม  และแบบบรรจุทั้งฝัก นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปแบบแช่แข็งทั้งเมล็ด แช่แข็งทั้งฝัก เมล็ดแห้ง และน้ำนมข้าวโพด  ปัจจุบันความต้องการข้าวโพดหวานของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นผลให้ในปี พ.ศ.2549 ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณ 125,308 ตัน มูลค่า 4,291.0 ล้านบาทเลยทีเดียวครับคุณผู้ฟัง  และส่งออกข้าวโพดหวานแช่แข็งปริมาณ 4,730 ตัน มูลค่า 166.6 ล้านบาท ในปีเพาะปลูก 2547 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูก 302,991 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,620 กก./ไร่ และมีปริมาณผลผลิต 490,763 ตัน    และปี พ.ศ. 2553 ส่งออกรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5,108.50 ล้านบาท ในปีเพาะปลูก  2549/2550  คาดว่าประเทศไทยมีการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมประมาณ  500  ตัน มากกว่า 95% ของปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานทั้งหมด โดยมีสัดส่วนของลูกผสมเดี่ยวยีน shrunken-2 หรือ พันธุ์ sh2 ประมาณ 90% และยีนbrittle-1 พันธุ์bt1 ประมาณ 10% เช่นเดียวกันกับในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวยีน sh2 มากกว่า 50 %  ข้าวโพดหวานลูกผสมเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เพราะมีปริมาณน้ำตาลซูโครสมากกว่าลูกผสมข้าวโพดหวานธรรมดาที่ควบคุมด้วยยีน sugary ทำให้ยืดเวลาการสุกแก่ที่เหมาะต่อการรับประทาน และทนต่อการขนส่งทางเรือไปยังตลาดที่ห่างไกลได้ดีกว่า และส่งเสริมให้ใช้ในการแปรรูป บรรจุกระป๋อง และแช่แข็ง โดยโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่หวานธรรมชาติ

คุณผู้ฟังครับ การผลิตข้าวโพดหวานในระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยต้องแข่งขันกับกับต่างประเทศ        โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส   ดังนั้น จึงมีความต้องการพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพในการรับประทานที่ดีมาก โดยเฉพาะต้องมีความอ่อนนุ่มสูง  และมีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง การปรับปรุงพันธุ์ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเชื้อพันธุกรรมที่จะนำมาใช้ปรับปรุง จึงต้องมีการนำเข้าข้าวโพดหวานจากต่างประเทศทั้งพันธุ์ผสมเปิดหรือพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพในการรับประทานสูงมาปลูก แต่พันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ จึงต้องมีการปรับปรุงข้าวโพดหวานที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อให้ต้านทานโรคและแมลง และปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมในการสกัดสายพันธุ์แท้ เพื่อสร้างพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพในการรับประทานที่ดีครับคุณผู้ฟัง

 คุณผู้ฟังครับ สำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป จะช่วยลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานจากต่างประเทศ รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวโพดหวานเป็นอันดับ 3 ของโลก ผลจากการวิจัยและพัฒนาของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 ได้เผยแพร่พันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ อินทรี 1, อินทรี 2, KSSC 503, ข้าวโพดหวานสองสีพันธุ์ KSSC 978 ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวยีน brittle-1 พันธุ์ KSSC 563 และ KSSC 604 ในปี พ.ศ. 2538, 2546, 2547,  2548 และ 2550 ตามลำดับครับคุณผู้ฟัง

 -เพลงคั่นรายการ-

          เรามารู้จักข้าวโพดกันอีกประเภทน่ะครับคุณผู้ฟัง ข้าวโพดฝักอ่อน จัดเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย โดยเริ่มส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2514 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ส่งออกได้ 378 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.9 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2549 ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง 96,345 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,145.1 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋องลดลงเป็น 40,522 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,212.7 ล้านบาท โดยส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และอีกหลายประเทศครับ

นอกจากนี้ ยังได้ส่งข้าวโพดฝักอ่อนสดแช่เย็นไปยังประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น จำนวน จำนวน 5,878 ตัน คิดเป็นมูลค่า 496.4 ล้านบาท และข้าวโพดฝักอ่อนแช่แข็งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา จำนวน 730 ตัน คิดเป็นมูลค่า 30.1 ล้านบาท  และมีการบริโภคข้าวโพดฝักอ่อนสดในประเทศ ไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท  ในปีเพาะปลูก 2547 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน 244,802 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,246 กิโลกรัมต่อไร่ และมีปริมาณผลผลิต 305,094 ตัน ครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับ การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนเป็นการค้า ต้องใช้วิธีการถอดช่อดอกตัวผู้  เพื่อเร่งให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น  เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และป้องกันการผสมพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ฝักอ่อนที่ได้มีคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของโรงงาน เนื่องจากฝักอ่อนที่ได้มีเมล็ดบวมพอง  แต่การใช้วิธีการถอดช่อดอกตัวผู้ต้องใช้แรงงานและสิ้นเปลืองเวลามาก และทำให้สูญเสียใบบางส่วนทำให้ผลผลิตลดลง เป็นผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่น ประเทศซิมบับเว อินเดีย เวียดนาม และจีน  ดังนั้น การใช้ลักษณะเพศผู้เป็นหมัน  จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว   ทำให้ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่มีลักษณะเพศผู้เป็นหมันให้ผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรมีกำไรสุทธิต่อไร่สูงขึ้น มีความสม่ำเสมอของฝักและสีสูง ตรงความต้องการของโรงงาน และยังสามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ทำให้สะดวกในการจัดการของเกษตรกรและโรงงาน  นอกจากนี้ การใช้ลักษณะเพศผู้เป็นหมันในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเป็นการค้าของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าแรงงานในการถอดยอด และลดต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ และจะช่วยให้ประเทศไทยยังคงรักษาความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะเรื่องพันธุ์และการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไป

ผลจากการวิจัยและพัฒนาของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 ได้เผยแพร่พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 1, เกษตรศาสตร์ 2, KBSC 303 และ KBSC 605 ใน ปี พ.ศ. 2538, 2542, 2544, 2547 และ 2550 ตามลำดับ ครับคุณผู้ฟัง

-เพลงคั่นรายการ-

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย มีดังต่อไปนี้ครับคุณผู้ฟัง

1) พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์แท้ และสร้างข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวสีเหลือง ยีน shrunken-2 (sh2) และ brittle-1 (bt1) และสีเหลืองสลับขาว (bi-color) ยีน sh2 ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง 2,500-3,000 กก.ต่อไร่ มีคุณภาพในการรับประทานที่ดี สำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป และต้านทานโรคราน้ำค้าง และโรคทางใบ เช่น โรคราสนิม โรคใบไหม้แผลเล็ก โรคใบไหม้แผลใหญ่ รวมทั้งโรคไวรัส SCMV และ MDMV และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ต้านทานการหักล้ม มีเปลือกหุ้มฝักยาว และทนทานแล้งด้วยน่ะครับคุณผู้ฟัง

2) พัฒนาประชากรข้าวโพดหวานยีน sh2 และ bt1 ที่ต้านทานต่อโรคในข้อ 1 รวมทั้งมีคุณภาพในการ

รับประทานที่ดี และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เพื่อใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมสำหรับข้อ 1

3) การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรม

แปรรูป โดยให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือกเฉลี่ย 1,500-2,000 กก.ต่อไร่ มีคุณภาพในการรับประทานที่ดี และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ต้านทานโรคราน้ำค้าง โรคทางใบ และต้านทานการหักล้ม รวมทั้งทนทานต่อความแล้งครับคุณผู้ฟัง

สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ.1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ