รายการวิทยุเรื่อง “เซรามิกส์ในวงการทันตกรรม”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=-XF8CDkRwgA[/youtube]

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 19 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง เซรามิกส์ในวงการทันตกรรม

บทวิทยุ วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………

 -เพลงประจำรายการ-

          สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกับรายการ  “ จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ทางวิทยุ มก. แห่งนี้เป็นประจำทุกวันเสาร์ รายการนี้ผลิตโดย  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    เรื่อง “เซรามิกส์ในวงการทันตกรรม”

คุณผู้ฟังครับ การทันตกรรมในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ เพื่อสนองนโยบายในการมีสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าของประชาชน เพราะสุขภาพในช่องปากนั้น โดยเฉพาะฟันมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสุขภาพทั่วไปของร่างกาย การทำให้ฟันมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีแม้เมื่อเกิดการเสื่อมสภาพ เช่น ฟันผุ ฟันหัก  ตลอดจนให้มีการคงความสวยงามเหมือนธรรมชาติ จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นวันนี้ทางรายการจะขอเสนอเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเรื่อง “เซรามิกส์ในวงการทันตกรรม ” ครับ

คุณผู้ฟังครับ วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่นิยมใช้กันมาก นั้นได้แก่ อมัลกัม ซึ่งมีส่วนผสมเป็นผงโลหะชนิดต่างๆ ได้แก่  เงิน 35%  , ดีบุก 9% , ทองแดง 6% และสังกะสีเล็กน้อย โดยมีปรอทซึ่งเป็นโลหะเหลวเป็นตัวเชื่อมประสานครับ

ซึ่งในงานวิจัยจำนวนมากได้กล่าวถึงผลของการใช้ปรอทในสารอุดฟันที่มีต่อร่างกายมนุษย์ตลอดจนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปรอทสามารถระเหยไปในบรรยากาศได้เมื่อปรอทนั้นได้รับความร้อน เช่นในขณะที่มีการผสมปรอทในอมัลกัมในงานของทันตแพทย์ เพื่อการอุดฟัน ในอเมริกาพบว่าทันตแพทย์ใช้ปรอทเป็นปริมาณมากถึง 40 ตันต่อปี และจากการศึกษาคนที่ได้รับการอุดฟันด้วยอมัลกัม เมื่อเสียชีวิตลง ไม่ว่าจะถูกฝังหรือถูกเผาก็ตาม จะพบว่ามีสารปรอทจากอมัลกัมปะปนเข้าไปในอากาศ ดิน และน้ำ ในสภาพแวดล้อมเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นจึงมีการพัฒนาลดการใช้อมัลกัมเป็นสารอุดฟันทั้งในอเมริกาและยุโรปขึ้น เพื่อลดปริมาณใช้ปรอทในการอุดฟัน และเซรามิกส์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้เป็นวัสดุทันตกรรมชนิดสารอุดฟัน นอกจากนั้นเซรามิกส์ยังนำมาใช้เป็นตัวฟัน หรือครอบฟันอีกด้วย

เซรามิกส์ที่กล่าวมามีทั้งที่เป็นพอร์ซเลน และกลาสเซรามิกส์ คุณผู้ฟังครับวัสดุทั้งสองชนิดนี้ มีความแข็งแรงสูง ความแข็งแรงใกล้เคียงธรรมชาติ และทนต่อการเสียดสี ซึ่งการเสียดสีนี้ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจริงในช่องปากขณะเคี้ยวอาหาร นอกจากความเหมาะสมในการใช้งานแล้ว ความสวยงามอันเกิดจากความเหมือนฟันธรรมชาติก็เป็นปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ทำให้นำเซรามิกส์ ที่เป็นพอร์ซเลนมาใช้กันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าเซรามิกส์จะแข็งมากและยากต่อการเจียระไนและตกแต่งของทันตแพทย์หรือหมอฟันก็ตาม และกลาสเซรามิกส์ง่ายต่อการเจียระไน ตกแต่งจึงเหมาะแก่การทำเป็นฟันมากกว่าพอร์ซเลน งานวิจัยที่พัฒนาเกี่ยวกับกลาสเซรามิกส์ในงานทันตกรรมมีการวิจัยกันมาแล้วระดับหนึ่ง โดยความร่วมมือของ 4 ประเทศ ในกลุ่ม EU ได้แก่ อังกฤษ ไอร์แลนด์ เบลเยียม และเนเธอร์ แลนด์ แต่ยังต้องมีการวิจัยและพัฒนายิ่งขึ้นไป เพื่อให้ง่ายต่อการเจียระไนตกแต่ง เช่นในการกรอฟันที่ผุ เพื่อให้เข้ากับรูปร่างของรูฟันที่ผุ ซึ่งทำให้เข้ากับรูปร่างของฟันได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 -เพลงคั่นรายการ-

          คุณผู้ฟังครับ คุณผู้ฟังต้องเคยฟันหักหรือฟันหลุดไหมครับ  และในแต่ละปีมีสถิติที่สหรัฐอเมริกามีอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจนทำให้ฟันดีๆ ต้องหลุดออกจากปากของเจ้าของกว่า 2 ล้านซี่ จากพลเมืองกว่า 200 ล้านคนของเขา ถ้าคิดเทียบตัวเลขนี้กับประเทศไทย ซึ่งมีพลเมืองกว่า 60 ล้านคน คนไทยมีอาการบาดเจ็บจนฟันหลุดกว่า 6 แสนซี่ต่อปี ทันตแพทย์กล่าวว่าการที่ฟันหลุดออกจากเบ้ารองฟันถ้าสามารถใส่คืนหรือปลูกไว้ที่เดิมจะสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ต้องทำให้ทันเวลาและถูกวิธี ข้อสำคัญต้องไม่ปล่อยให้ฟันและเอ็นรอบรากฟันแห้งตาย เพาะว่าฟันจะตายภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนเอ็นเยื่อจะตายภายใน 30 นาที หลังจากฟันหลุดออก แต่ฟันอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 4 ชั่วโมงหรือกว่านั้นได้ถ้าเก็บไว้ในสารละลาย และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ในน้ำลาย น้ำนม หรือน้ำยาพิเศษที่มีความเป็นกรดด่างพอเหมาะ อุดมด้วยแร่ธาตุ สารอาหาร วิตามินและยาต้านจุลชีพ  (ดังนั้น ถ้าฟันหลุดก็ควรอมไว้ก่อนนะครับ ถ้าหาน้ำนมหรือน้ำยาไม่ทัน)นี่คือวิธีรักษาฟังที่ง่ายที่สุดครับ

แต่ถ้าในกรณีที่ฟันและเซลล์รอบรากฟันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้แล้ว ภายหลังจากฟันที่หลุดออกมา ก็จำเป็นต้องหาวัสดุอื่นเข้าไปแทนที่ครับ ที่เรียกว่า ฟันปลอม คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าฟันปลอม คือสิ่งประดิษฐ์ หรือสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไป อันที่จริงคนเราสามารถใช้เหงือกบดเคี้ยวอาหารก็ได้นะครับ แต่อาจเคี้ยวได้เฉพาะพวกแป้งและอาหารอ่อนเท่านั้น ซึ่งทำให้สารอาหารไม่ครบหมู่ การบดเคี้ยวไม่ละเอียดเพียงพอเป็นผลเสียกับระบบย่อยอาหาร และทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวอาหารทำงานมากกว่าปกติด้วยครับบ ฟันปลอมจึงมีบทบาทในด้านช่วยการบดเคี้ยวให้มีประสิทธิภาพเหมือนปกติ ช่วยให้มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติทำให้ความสมบูรณ์ของร่างกายของใบหน้าอยู่ในสภาพเดิม และเป็นการปรับปรุงแก้ไขทำให้บุคลิกภาพอื่นๆที่สูญเสียไปเมื่อไม่มีฟัน เช่น การออกเสียงไม่ชัดนั่นเองครับ อีกสักครู่จะพูดถึงชนิดของฟันปลอมกันต่อครับ รอฟังกันในช่วงหน้านะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

          คุณผู้ฟังครับ ฟันปลอมแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด แบบถอดได้และแบบติดแน่น ในครั้งนี้จะพูดถึงเฉพาะแบบติดแน่นนะครับ ฟันปลอมชนิดแบบติดแน่นเป็นฟันที่ติดอยู่ในช่องปากอย่างถาวร ถอดออกมาล้างไม่ได้ ตัวฟันปลอมจะวางอยู่บนสันเหงือกและมีสวนยื่นออกไปจากฟันปลอมนี้เพื่อยึดกับฟันข้างเคียงที่อยู่ติดกับช่องว่าง โดยใช้วัสดุในการยึดติดฟันปลอมไว้ ฟันปลอมจะติดแน่นในช่องปากเหมือนฟันธรรมชาติ การใส่ฟันปลอมชนิดนี้เรียกว่าการทำสะพานฟัน ซึ่งมี 2 วิธีด้วยกันครับ

วิธีที่ 1. ส่วนของฟันปลอมจะยื่นออกไปยึดกับฟันหลัก ทำเป็นปีก หรือฟันครอบเพื่อครอบทับฟันหลักโดยไม่ต้องกรอฟันหลัก หรือ กรอแต่งบ้างเล็กน้อย เพื่อให้ปีกของฟันปลอมมาเกาะ แต่จะทำให้ฟันหลักมีซี่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ถ้าปีกหนามากไปจะทำให้การสบฟันมีปัญหา แต่ถ้าบางเกินไปฟันปลอมจะไม่แข็งแรงครับ

วีธีที่ 2. ส่วนของฟันปลอมที่ยื่นออกไปยึดกับฟันหลัก ทำเป็นครอบฟัน ครอบทับลงไปบนฟันหลักทั้ง 2 ซี่ โดยที่ต้องกรอฟันหลักออกโดยรอบอย่างน้อย 1 มิลลิเมตร การทำฟันปลอมชนิดนี้จะทำให้ได้แรงยึดมากขึ้น เพราะมีพื้นที่ใช้ยึดมากกว่า ครอบฟันที่ทำขึ้นจะมีขนาดเหมือนฟันเดิม

คุณผู้ฟังครับนอกจากอาการ ฟันหลุด ที่พบแล้ว อาการ ฟันผุ ยังเป็นโรคที่พบในช่องปากได้บ่อยมากครับ จากสถิติพบว่าเด็กไทยอายุ 3 ปี จะมีฟันน้ำนมผุโดยเฉลี่ย 3 ซี่ และผู้ใหญ่อายุ 35 – 44 ปีมีฟันแท้โดยเฉลี่ย 7 ซี่ โดยถ้าผุในชั้นในเนื้อฟันจะลุกลามเร็วกว่าชั้นเคลือบฟัน ที่อยู่ภายนอก และต้องกรอเอาส่วนผุออกให้หมดจึงจะซ่อมแซมฟันให้มีรูปร่าง และขนาดเหมือนฟันเดิมได้ การซ่อมแซมฟันทำได้หลายวิธีด้วยกันนะครับ

วิธีแรก คือการอุดฟันธรรมดา การอุดฟันธรรมดาจะ ใช้ในกรณีที่มีเนื้อฟันเหลืออยู่มากพอจะยึดวัสดุอุดฟันได้ครับ

วิธีที่สองคือการอุดฟันร่วมกับการฝังหมุด ถ้าเนื้อฟันเหลืออยู่น้อยเกินไป จะต้องฝังหมุดลงในเนื้อฟันก่อน เพื่อเพิ่มแรงยึดของวัสดุอุดฟันกับเนื้อฟัน แล้วจึงอุดเหมือนการอุดฟัน

วิธีที่สามคือการอุดฝัง ต้องทำชิ้นวัสดุอุดฟันให้มีขนาดพอดีกับเนื้อฟันที่ถูกกรอออกไป แล้วจึงอุดลงไปในเนื้อฟัน โดยมีสารตัวยึดให้ชิ้นวัสดุนี้ติดแน่นอยู่กับตัวฟัน

วิธีที่สี่คือการอุดครอบต้องทำชิ้นวัสดุอุดฟันให้มีขนาดพอดีกับเนื้อฟันที่ถูกกรอออกไปเหมือนการอุดฝัง แต่เนื้อฟันของการอุดแบบนี้ไม่ได้ถูกกรอลึกมากนัก จึงเป็นการอุดครอบชิ้นวัสดุโดยมีสารตัวยึดลงบนเนื้อฟัน

วิธีสุดท้ายคือการครอบฟัน การครอบฟันจะทำในรายการที่สูญเสียเนื้อฟันไปมากหรือฟันตาย คือฟันที่เปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำ-ดำ  จนต้องกรอฟันรอบนอกออก ทำให้ต้องซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ทั้งซี่ การซ่อมแซมนี้ทำได้โดยการจำลองรูปแบบของฟันจากภาพถ่ายรังสีของฟันเดิมให้เป็นชิ้นวัสดุที่มีขนาดพอเหมาะในการครอบลงบนเนื้อฟันที่เหลืออยู่

คุณผู้ฟังครับ อีกสักคู่ เราจะพูดถึงการเลือกวัสดุที่ใช้สำหรับทำฟันปลอมและอุดฟันกันครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

           การเลือกวัสดุหรือชิ้นวัสดุสำหรับทำฟันปลอมและสำหรับอุดฟันนั้น ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานและตำแหน่งของฟันเป็นหลัก เช่น ถ้าเป็นฟันกรามต้องมีความแข็งแรงทนการเสียดสีเป็นหลัก และถ้าเป็นฟันหน้าความแข็งแรงจะเป็นรอง แต่ต้องมีความเหมือนเดิม เช่น สีและความโปร่งแสงเป็นหลัก

วัสดุที่ใช้ในการทำฟันปลอมมีด้วยกัน 3 ชนิด

ชนิดที่ 1.อะครีลิค โดยมากตัวโครงสร้างเป็นโลหะ ด้านนอกเคลือบอะครีลิค ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชนิดหนึ่ง มีความแข็งแรงพอควรแต่ทนแรงกระแทกไม่ได้มาก สามารถกรอแต่งได้ง่าย มีสีที่ปรับแต่งให้เหมือนธรรมชาติได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ดูดซับสีจากอาหารที่รับประทานได้ดี เบา ไม่แข็งมากทำให้มีปัญหาทำให้ฟันคู่สบสึก

ชนิดที่  2.พอร์ซเลน ตัวโครงอาจเป็นโลหะแล้วเคลือบด้วยพอร์ซเลนด้านนอก หรือเป็นพอร์เลนทั้งชิ้น  มีความแข็งแรงสูง ทนต่อการเสียดสี มีความแข็งแรงสูงเช่นกัน ทำให้มีปัญหาต่อฟันคู่สบ ปรับแต่งสีได้ แต่ไม่ดูดซับสีจากอาหาร หนักกว่าอะครีลิคมาก

ชนิดที่  3.กลาสเซรามิกส์ ปัจจุบันมีการพัฒนากลาสเซรามิกส์เพื่อให้ทำเป็นฟันปลอม เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ เช่นความแข็งแรงสูง ความเป็นฉนวน ไฟฟ้าและความร้อน ความแข็งแรงที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการสึกของฟันคู่สบ ง่ายต่อการตกแต่ง ทันตแพทย์สามารถใช้เครื่องมืกรอฟันธรรมดาที่ใช้อยู่ในการตกแต่ง และสามารถปรับแต่งสีให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติได้โดยใช้ออกไซด์ของโลหะต่างๆช่วย

วัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน มีด้วยกัน 4 ชนิด

วัสดุชนิดที่1.มีชื่อว่าอมัลกัมเป็นวัสดุอุดฟันที่ใช้กันมานาน เกิดจากการผสมของโลหะหลายชนิดได้แก่ เงิน , ดีบุก , สังกะสี , ทองแดง , ปรอท  โดยมีปรอทเป็นโลหะชนิดเดียวที่เป็นของเหลวเป็นตัวทำละลายทำให้วัสดุอุดฟันที่เป็นสีเทาเงิน มีความแข็งแรงสูง แต่ไม่สามารถยึดติดกับฟันได้ และไม่ปล่อยฟลูออไรด์ มักใช้ในการอุดฟันกราม รับแรงบดเคี้ยวได้ดีแต่ไม่ต้องการสวยงาม

วัสดุชนิดที่ 2. มีชื่อว่ากลาสไอออโนเมอร์ เป็นวัสดุอุดฟันที่เป็นผงแล้วใส่ของเหลวลงไปในการทำเป็นสารประกอบเพื่ออุดฟัน มีสีเหมือนฟันใช้อุดรอยผุเล็กๆของฟันหน้า คอฟัน และอุดร่องฟันของฟันน้ำนม สามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาช่วยในการป้องกันฟันผุต่อได้ แต่ไม่แข็งแรงมากนัก มีการสึกหรอได้มากกว่าวัสดุอื่น

วัสดุชนิดที่ 3.มีชื่อว่าเรซินคอมโพสิท เป็นสารประกอบที่มีสีใกล้เคียงกันกับธรรมชาติ แข็งแรงกว่ากลาสไอออโนเมอร์ แต่ไม่มีการปล่อยฟลูออไรด์ มักใช้ในการอุดฟันหน้าเพื่อความสวยงามตามธรรมชาติ

วัสดุชนิดที่ 4.มีชื่อว่ากลาสเซรามิกส์ สามารถใช้ทำเป็นชิ้นวัสดุอุดฟันทั้งชนิด inlay (อินเล), onlay(ออนเล) และ crow(โครว) โดยใช้เครื่องขึ้นรูป  เพื่อเตรียมเป็นชิ้นวัสดุอุดฟัน โดยที่รูปร่างของเนื้อฟันส่วนที่ผุจะใช้ภาพถ่ายรังสีเป็นตัวกำหนด รูปร่าง

อีกสักครู่ เราจะมาพูดถึงกลาสเซรามิกส์กันต่อครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

           คุณผู้ฟังครับกลาสเซรามิกส์ คือ ของแข็งที่ผลิตขึ้นมาจากแก้ว โดยการทำให้แก้วผ่านกระบวนการทางความร้อน ที่มีการควบคุมทั้งอุณหภูมิและช่วงเวลา จนเกิดเป็นโครงสร้างผลึก ที่เป็นระเบียบและสมมาตร กระบวนการทางความร้อนมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ การทำให้นิวเคลียสขึ้นในเนื้อแก้ว และ  การทำให้นิวเคลียสเติยโตขึ้นอย่างเหมาะสมในเนื้อแก้ว

กลาสเซรามิกส์จึงแตกต่างจากแก้วหลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการที่มีความร้อนและช่วงเวลาที่เหมาะสมของกระบวนการทางความร้อน โดยที่แก้วคือวัตถุที่มีโครงสร้งแบบโครงข่ายแบบสามมิติที่ไม่เป็นระเบียบและไม่สมมาตร ดังนั้นลักษณะของความเป็นระเบียบ และความสมมาตร ของโครงสร้างเหล่านี้ทำให้สามารถจำแนกเป็นผลึกแก้วได้

การศึกษากลาสเซรามิกส์ ที่นำมาใช้งานทางด้านทันตกรรม จะเน้นให้ได้มาถึงกลาสเซลามิกส์ที่สามารถนำมาเจียระไนหรือกรอฟันได้ง่ายเพื่อที่ว่าทันตแพทย์จะได้นำ กลาสเซรามิกส์ นั้นไปใช้งาน ทั้งที่เป็นชิ้นวัสดุอุดฟันและฟันปลอม นอกจากนั้นกลาสเซรามิกส์ยังสามารถนำมาตกแต่งได้ง่าย เกิดความสวยงามและมีความเหมือนธรรมชาติของฟันเมื่ออยู่ในช่องปาก

คุณผู้ฟังครับนับว่าเซรามิกส์ที่เราเห็นอยู่ในรูปของพวกเครื่องเคลือบ และถ้วยชามนั้น มีประโยชน์มาก ทั้งเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารและช่วยซ่อมแซมอวัยวะที่ใช้ในการรับประทานอาหารอีกด้วย ถ้าไม่มีเจ้ากลาสเซลามิกส์ตัวนี้แล้วเราเมื่อเวลาฟันเราผุก็คงฟันหรอ ทานได้แต่อาหารเหลวนะครับ  ทางรายการต้องขอบคุณ อ.ดวงฤดี  ฉายสุวรรณ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทีให้ข้อมูลมา ณ ที่นี้ หากผู้ฟังสนใจรายละเอียดเขียนคำถามส่งไปทางไปรษนียบัตรถึง รายการ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.   ตู้ ปณ.1077  ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 สำหรับรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”  ในวันนี้ได้หมดเวลาลงแล้ว  พบกับรายการนี้ได้ใหม่   ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  สำหรับวันนี้สวัสดีครับ