รายการวิทยุเรื่อง “การศึกษาเยื่อสาโดยวิธีระเบิดด้วยไอน้ำ”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=60hTI8pDs9I[/youtube]

บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ที่  12 เดือน  กรกฎาคม  พ.ศ. 2557

เรื่อง การศึกษาเยื่อสาโดยวิธีระเบิดด้วยไอน้ำ

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

          สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกับอาชีพของตนเอง  โดยมีกระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ และวันนี้กระผมมีความรู้จากผลงานวิจัยที่น่าสนใจมาฝากครับ นั่นก็คือ เรื่อง การศึกษาเยื่อสาโดยวิธีระเบิดไอน้ำ คุณผู้ฟังครับ ปอสาเป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่ง   อยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน มีชื่อเรียกกันหลายชื่อแล้วแต่ท้องถิ่นครับ เช่น ภาคเหนือ  และตะวันออกเฉียงเหนือ  เรียก ปอสา  ปอกะสา  ภาคตะวันตก  เรียก  หมอพี  หมกพี  ภาคใต้เรียก  ปอฝ้าย  เส้นใยปอสาส่วนใหญ่ได้จากเปลือกของลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพดี   ในการผลิตกระดาษชนิดต่าง ๆ  กระดาษสา  มีคุณสมบัติ  คือ  ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย   เก็บรักษาได้นาน   หากใช้ทำหนังสือตัวหนังสือจะไม่ซีดจางอยู่ได้นานกว่าร้อยปี   ปัจจุบันผลผลิตปอสาส่วนใหญ่   ใช้ทำกระดาษด้วยมือ  และทำประโยชน์ได้มากมาย  ได้แก่  กระดาษร่ม   ดอกไม้ประดิษฐ์   โคมไฟ  พัด  ว่าว  บัตรอวยพรต่าง ๆ   กระดาษวาดภาพกระดาษห่อสารเคมี   บรรจุในก้อนถ่านไฟฉาย  และใช้ประโยชน์ต่าง ๆ  ในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นพืชสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น  ใบ ใช้ขับปัสสาวะ  แก้พิษแมลงกัดต่อย   กลากเกลื้อน    ผลสุก  ใช้บำรุงไตแก้อ่อนเพลีย  เปลือกลำต้น  ใช้ห้ามเลือด   ราก  แก้ไอ  อาเจียน   น้ำยางจากลำต้น  ใช้แก้การบวมน้ำ และแมลงกัดต่อยด้วย

 -เพลงคั่นรายการ-

       คุณผู้ฟังครับ  ปอสาเป็นพืชยืนต้นขนาดกลาง  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน  คาบสมุทรเกาหลี  และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบขึ้นเองตามธรรมชาติ  เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนซุย    มีความชื้นสูง   โดยเฉพาะใกล้บริเวณแห่งน้ำ    ริมลำธาร   ตามซอกเขามีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย  พบมากในจังหวัดต่าง ๆ  ทางภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคตะวันตก

ลำต้น มีลักษณะกลมเปลือกลำต้นเรียบ  สีน้ำตาลเข้ม  หรือมีลายดำน้ำตาลดำแกมม่วงหรือสีอื่น ๆ  แล้วแต่พันธุ์เมื่อตัดต้นหรือกิ่งพบว่าระหว่างเปลือกกับแกนของลำต้น  จะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมาครับ

ใบเป็นใบเดี่ยว  มี  2  ลักษณะ  คือ  ชนิดใบมนรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ  และชนิดใบแฉกมี  3 – 5  แฉก    บางต้นมีใบทั้งสองชนิดอยู่บนต้นเดียวกัน   ลักษณะใบมีขนอ่อนปกคลุมขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย    ปลายใบแหลม  หลังใบมีสีเขียวแก่   ท้องใบสีเขียวอ่อนอมขาวสะท้อนแสง   ใบมีความกว้าง  6 – 12  เซนติเมตร  ยาว  7 – 20  เซนติเมตร  ก้านใบยาวประมาณ  3 – 10  เซนติเมตร  หูใบยาวประมาณ  1 – 2  เซนติเมตร

ดอก มี  2 ชนิด  คือ   ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้อยู่แยกจากกันคนละต้น  เป็นต้นตัวเมียและต้นตัวผู้     ช่อดอกตัวเมียที่เจริญเต็มที่มีลักษณะกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  2 – 3 เซนติเมตร  ประกอบด้วยกลุ่มดอกค่อนข้างแน่น    ดอกอ่อนมีสีเขียว  ยอดเกสรตัวเมียมีลักษณะยาว  1 – 3  เซนติเมตร  อยู่โดยรอบ    เมื่อดอกแก่ได้รับการผสมแล้ว   แต่ละดอกจะเจริญไปเป็นผล   มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ   สีแดงอมส้ม   อ่อนนุ่มภายในมีเมือกชื้น  โดยมีส่วนของเมล็ดติดอยู่ด้านปลายผล   ซึ่งนกและกระรอกชอบกินเป็นอาหาร    สำหรับช่อดอกตัวผู้มีลักษณะยาว  ประมาณ  2 – 15  เซนติเมตร  สีน้ำตาลอ่อน   ดอกย่อยมีกลีบดอก  4  กลีบ   มีเกสรตัวผู้  4  อัน   ปอสาจะออกดอกครั้งแรกเมื่อต้นมีอายุประมาณ  1  ปี   ช่วงเวลาออกดอกไม่มีกำหนดที่แน่นอน   ทยอยออกตลอดทั้งปีช่วงที่พบออกดอกมากมี  2  ช่วง  คือ  ช่วงแรกระหว่างเดือน  กุมภาพันธ์ – มีนาคม  และช่วงที่  2  ระหว่างเดือน  มิถุนายน – กรกฎาคม   ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม

เมล็ด มีสีน้ำตาลแดง  มีขนาดเล็ก    ช่วงเวลาการเก็บเมล็ดระหว่างเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน  จะได้เมล็ดสมบูรณ์มากกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน  และธันวาคม  หรือช่วงอื่น ๆ

รากปอสามีระบบรากแก้วไม่ลึกแต่มีการแตกราก  แพร่กระจายออกรอบ ๆ ต้น  สามารถใช้ขยายพันธุ์ได้

 -เพลงคั่นรายการ-

         คุณผู้ฟังครับ การจำแนกพันธุ์ปอสาในไทยนั้น  ปัจจุบันชาวบ้านแยกพันธุ์ตามลักษณะสีของลำต้นครับ  ที่พบได้แก่  พันธุ์ต้นลาย   พันธุ์ต้นไม่มีลายสีน้ำตาลเข้ม  หรือสีดำแกมม่วง   สำหรับกรมวิชาการเกษตรได้รายงานการจำแนกพันธุ์ตามสีของก้านใบเป็น   2   พันธุ์   ได้แก่ พันธุ์ที่มีก้านใบเป็นสีน้ำตาลแกมม่วง พบอยู่ในสภาพธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วประเทศ และพันธุ์ที่มีก้านใบเป็นสีเขียวอ่อน   พบครั้งแรกในเขต อำเภอปากชม  จังหวัดเลย และขึ้นแพร่กระจายตามริมแม่น้ำ เขตรอยต่อประเทศลาว

นอกจากนั้นยังได้มีการนำเอาพันธุ์ปอสาจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาปลูกในประเทศไทยด้วย   โดยได้มีการนำเข้ามาเมื่อปี  พ.ศ. 2522

การขยายพันธุ์ปอสาสามารถขยายพันธุ์ได้  3  วิธี คือ  การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  เมล็ดปอสาจากดอกที่สมบูรณ์  และแก่จัดจะใช้ขยายพันธุ์ได้ผลดี   มีความงอกสูงประมาณร้อยละ  80  เมล็ดมีขนาดเล็ก จึงสะดวกและง่ายต่อการขยายพันธุ์จำนวนมาก สำหรับปลูกเพื่อการค้า ต้นกล้าจากเมล็ดแม้จะมีการเจริญเติบโตช้าในช่วงแรกเมื่อเปรียบเทียบกับกล้าจากกิ่งหรือไหลแต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงกันเมื่ออายุ  2   ปี  ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสภาพพื้นที่

การขยายพันธุ์ด้วยราก    ระบบรากของปอสากระจายแผ่กว้าง   รากสามารถเจริญเป็นต้นอ่อนได้   มักเรียกรากเหล่านี้ว่าไหล    ในสภาพที่มีความชื้นเหมาะสม   สามารถนำไปชำเป็นกล้าปลูกได้ผลดี

การขยายพันธุ์ด้วยลำต้นหรือกิ่งชำ   ส่วนของลำต้นและกิ่งปอสาสามารถนำไปปักชำเป็นกล้าปลูกได้   แต่การปักชำวิธีนี้   โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ  4 – 6  สัปดาห์ จึงจะเริ่มออกราก  ซึ่งใช้เวลานานกว่าการปักชำด้วยราก

คุณผู้ฟังครับปอสาสามารถเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็วในสภาพพื้นที่  และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม   คือ  พื้นที่ดินร่วนซุยมีความอุดมสมบูรณ์สูง   สภาพอากาศมีความชื้นสูง   เนื่องจากปากใบปอสามีขนาดค่อนข้างใหญ่  มีอัตราการคายน้ำสูง    อย่างไรก็ตามในสภาพความชื้นต่ำปอสาก็เจริญเติบโตอยู่ได้  แต่ใบจะมีขนาดเล็กลงและเจริญเติบโตช้าลงครับ

แหล่งที่ผลิตปอสาโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นการตัดเก็บเกี่ยวจากต้นที่ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติ แหล่งที่มีการตัดและลอกเปลือกปอสากันมากอยู่ทางภาคเหนือ  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในธรรมชาติปอสาจะแพร่พันธุ์โดยใช้ส่วนของรากมากกว่าส่วนอื่น แต่ในการปลูกสามารถเตรียมกล้าพันธุ์ได้หลายวิธี  ได้แก่  การเตรียมกล้าพันธุ์จากเมล็ด  โดยใช้เมล็ดที่สมบูรณ์เพาะในกระบะทรายก่อนจนกว่าจะงอกเป็นต้นแตกใบจริงประมาณ  1 – 2  ใบ  จึงย้ายลงเพาะในถุงต่อไป  หรืออาจเพาะในถุงโดยตรงก็ได้   ถ้าเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง  เลี้ยงกล้าไว้อายุอย่างน้อยประมาณ  1  เดือนขึ้นไปจนรากเป็นสีน้ำตาล    ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรงพอจึงย้ายกล้าลงแปลงปลูก  ศัตรูที่ควรระวังในการเพาะกล้าจากเมล็ด  คือ  มด  และเชื้อรา      การเตรียมกล้าพันธุ์จากราก  โดยตัดแขนงรากที่เลื้อยตามผิวดินมาปักชำในถุงพลาสติก   หรือกระบะทรายผสมขี้เถ้าแกลบแขนงรากที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่    หรือมีต้นอ่อนเริ่มเจริญติดอยู่   จะปักชำได้กล้าพันธุ์รวดเร็วกว่า  แขนงรากขนาดเล็ก  การปักชำโดยวิธีนี้มีความงอกสูงประมาณร้อยละ  90  หลังปักชำแล้วประมาณ  1  เดือนก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้       การเตรียมกล้าพันธุ์จากกิ่ง  โดยตัดกิ่งหรือลำต้นเป็นท่อนพันธุ์ยาวประมาณ  6 – 8  นิ้ว  ปักชำในถุงพลาสติกหรือกระบะเพาะชำหลังจากนั้นต้องไม่เคลื่อนย้ายจนกว่าท่อนพันธุ์จะมีรากแข็งแรง     ใช้เวลาประมาณ  45 วัน  หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของท่อนพันธุ์     การเจริญเติบโตในช่วงแรกจะมีการสร้างใบ   ก่อนการสร้างราก   ถ้าใบมีขนาดใหญ่   ควรตัดใบออกครึ่งหนึ่ง   หรือ  2 ใน 3  ของใบ  เพื่อลดการคายน้ำ  มิฉะนั้น    อาจทำให้ท่อนพันธุ์แห้งตายก่อนที่จะสร้างรากได้   การปักชำวิธีนี้  ควรใช้ท่อนพันธุ์จากลำต้นที่มีอายุมากจะมีเปอร์เซ็นต์การงอก  และการรอดตายสูงกว่าท่อนพันธุ์ที่มีอายุน้อย  อย่างไรก็ตามการเตรียมกล้าโดยวิธีนี้  ได้ผลค่อนข้างช้า  และเปอร์เซนต์การได้ต้นกล้าที่แข็งแรงน้อยกว่า  2   วิธีแรก

-เพลงคั่นรายการ-

          คุณผู้ฟังครับ ในการปลูกต้นปอสานั้น ในสภาพพื้นที่รายการเตรียมดินโดยการไถดะ  1  ครั้ง  ไถแปร  1  ครั้ง   ให้ดินละเอียดร่วนซุยแล้วจึงย้ายกล้าลงแปลงปลูก  สำหรับในสภาพพื้นที่เชิงเขาที่มีความลาดชันสูงในลักษณะปลูกแซมป่า   ควรขุดหลุมกว้างประมาณ   1  หน้าจอบ  ลึกประมาณ   2  หน้าจอบ    ให้กำจัดวัชพืชบริเวณรอบหลุมในรัศมีไม่ต่ำกว่า  25  เซนติเมตร   ควรปลูกในช่วงฤดูฝน   ขณะที่สภาพดินและอากาศมีความชื้นสูง   ถ้าต้นกล้ามีใบมาก   ควรตัดใบทิ้งบ้าง  เพื่อลดการคายน้ำ  ในช่วงแรกของการย้ายปลูกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ   เพื่อให้ปอสาตั้งตัวได้เร็ว

การเจริญเติบโตของปอสาตอบสนองต่อความชื้น  และความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างสูง     ถ้าปล่อยให้ปอสาเจริญเติบโตอิสระปอสาจะแตกพุ่มมาก   อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงต้นถึง   4  เมตร  สูง  3 – 4  เมตร   ดังนั้น  การกำหนดระยะปลูกจึงมีผลต่อลักษณะการเจริญเติบโตของลำต้นมาก  ถ้าระยะปลูกถี่ปอสาจะแตกพุ่มน้อย   มีการเจริญเติบโตของลำต้นค่อนข้างตรงและสูงกว่าการปลูกระยะห่าง    ซึ่งจะแตกพุ่มมากกว่าด้วย   การกำหนดระยะปลูกที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำลำต้นไปใช้  และสภาพของพื้นที่ปลูกด้วย

นอกจากนี้การปลูกโดยใช้กล้าพันธุ์จากกิ่งหรือรากจะมีการแตกกิ่งมากกว่าใช้กล้าพันธุ์จากเมล็ด  และมีความสม่ำเสมอของลำต้นและกิ่งน้อยกว่ากล้าพันธุ์จากเมล็ดด้วย

ในปัจจุบันยังไม่พบศัตรูของปอสาที่ขึ้นเองในสภาพธรรมชาติแต่ในแปลงปลูกพบศัตรูบ้างเล็กน้อย   ยังไม่เป็นปัญหามากนัก    ได้แก่หนอนแจะลำต้น  เพลี้ยอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบในช่วงฤดูร้อน  ระหว่างเดือนมีนาคม  –  เมษายน

วัชพืชไม่เป็นปัญหามากนักต่อการเจริญเติบโตของปอสาเนื่องจากเมื่อปอสาตั้งตัวในแปลงปลูกได้แล้ว  จะเจริญเติบโตเร็ว  มีใบขนาดใหญ่  สามารถคลุมวัชพืชได้  ถ้าหากในไร่มีวัชพืชมาก  อาจทำการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกช่วงแรกที่ย้ายกล้าลงแปลง  ขณะที่ปอสายังเล็กอายุประมาณ  1 – 2  เดือน

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับปอสาที่ใช้ในประเทศขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ได้จากธรรมชาติ  เกษตรกรจะมีการตัดปอสากันมากในช่วงเดือนมีนาคม – พฤศจิกายน  ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว    ตอปอสาจะแตกกิ่งใหม่  เมื่อมีฝนเพียงพอและสามารถลอกเปลือกได้ง่ายสำหรับในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์    ก็มีการตัดลอกเปลือกปอสาขายกันบ้าง  แต่มีปริมาณน้อย  โดยทั่วไปเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวปอสา  เพื่อลอกเปลือกขาย  ทำกัน  2  วิธี  ได้แก่

การตัดปอสาทั้งต้นที่แตกออกจากพื้นดิน  โดยตัดสูงจากพื้นดินประมาณ  30 – 50  เซนติเมตร  หรืออาจใช้วิธีตัดกิ่งที่มีขนาดตามต้องการ  ซึ่งเป็นการตัดกิ่งจากต้นปอสาขนาดใหญ่ที่มีอายุมาก ๆ  แต่การตัดกิ่งปัก  ไม่นิยมเหมือนการตัดลำต้น  เพราะลอกเปลือกยากและขาดง่ายกว่าการลอกจากลำต้น

การลอกเอาเฉพาะเปลือกโดยไม่ตัดต้น  ส่วนใหญ่ใช้ลอกเปลือกต้นปอสาขนาดใหญ่  ที่มีอายุมากประมาณ   10 – 15  ปีขึ้นไปมักได้เปลือกหนาและแข็ง  ใช้ทำกระดาษได้คุณภาพไม่ดี    สำหรับการเก็บเกี่ยวปอสาในสภาพแปลงปลูกเพื่อผลิตเปลือก   ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง  เพื่อลดอัตราการตายของต้นตอหลังการเก็บเกี่ยว    แปลงปลูกปอสาที่เริ่มเก็บเกี่ยวครั้งแรกอาจทำได้เมื่อต้นอายุ  8 – 12  เดือนขึ้นไป   ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูก  การดูแลรักษาแปลงปลูก   และปัจจัยอื่น ๆ     ที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของต้นปอสาในแปลง   ถ้าหากการเจริญเติบโตไม่ดี    ต้นยังไม่สมบูรณ์แข็งแรงพอ   การตัดเก็บเกี่ยวในครั้งแรก   อาจทำให้ต้นตอตายได้จึงไม่ควรตัดต้นปอสาที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นต่ำกว่า  5  เซนติเมตร   และควร ตัดให้เหลือตอสูงไม่น้อยกว่า  20  เซนติเมตร    หลังจากตัดต้นปอสาในครั้งแรกแล้ว  สามารถทำการเก็บเกี่ยวต่อไปได้เรื่อย ๆ  โดยไม่ต้องปลูกใหม่                   ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณปีละ  2 – 3  ครั้ง  ขึ้นอยู่กับสภาพดิน  และความชื้นของแปลงปลูก    ช่วงเก็บเกี่ยวประมาณต้นฤดูฝน    และปลายฤดูฝน  เมื่อตัดต้นปอสาแล้ว  ปอสาสามารถแตกกิ่งใหม่ได้ประมาณ   5 – 10  กิ่งต่อตอ  และควรมีการตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสม

คุณผู้ฟังครับปัจจุบันการจำหน่ายผลผลิตปอสาส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเปลือกปอสาแห้ง  การตลาดเปลือกปอสาแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ  ตลาดภายในประเทศ  และตลาดส่งออกต่างประเทศ  เปลือกปอสาชนิดส่งขายต่างประเทศจะมีคุณภาพดีกว่าเปลือกปอสาที่ใช้ภายในประเทศ  คุณภาพเปลือกปอสาโดยทั่วไป    พิจารณาจากความหนาของเปลือก  สีของเปลือกและความชื้น    เปลือกปอสาที่บางจะมีคุณภาพดีกว่าเปลือกหนา  ควรเป็นเปลือกจากต้นที่มีอายุ  6 – 12 เดือน   และไม่ควรเกิน   2  ปี     เปลือกควรมีสีขาวสะอาด  ปราศจากจุดดำและเชื้อราขึ้นคลุม    ดังนั้น  เมื่อตัดต้นปอสาแล้วควรรีบลอกเปลือกขูดลอกผิวและตากแห้ง    เปลือกปอสาที่มีคุณภาพดีสามารถที่จะส่งออกยังต่างประเทศได้นั้น   จะต้องมีคุณภาพ  โดยต้องแต่งผิวและตาให้สะอาดไม่มีส่วนแข็งของขอบตา  เส้นใยมีสีขาวสะอาด  ไม่มีส่วนของเปลือกสีเขียวเจือปน

เปลือกในของปอสาสามารถนำไปใช้ในการเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตกระดาษสาของโรงงานขนาดเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียใต้โดยเฉพาะในประเทศไทย   พม่า   เวียดนาม  จีน  ไต้หวัน  เกาหลี   และญี่ปุ่น    การต้มเยื่อกระดาษสาโดยทั่วไปจะใช้โซดาไฟ   ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการบำบัดน้ำทิ้ง

วิทยา   ปั้นสุวรรณ   จากภาควิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ได้ทำการวิจัย การระเบิดเยื่อกระดาษสาด้วยไอน้ำเป็นวิธีการที่ใช้แยกเส้นใยเซลลูโลสออกจากเฮมิเซลลูโลส    ลิกนิน   และเพคติน   ออกจากกันโดยให้ค่าความบริสุทธิ์จากแนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วิธีการต้มเยื่อโดยการระเบิดด้วยไอน้ำจึงถูกนำมาใช้ในการต้มเยื่อเปลือกในปอสา   รวมทั้งการต้มเยื่อด้วยไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์    ในสารละลายเบสโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์    ซึ่งน้ำทิ้งที่ได้จากการฟอกเยื่อสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยน้ำได้   ดังนั้นจึงไม่มีของเสียออกสู่สภาวะแวดล้อม   ดังนั้นการต้มเยื่อกระดาษสาโดยการระเบิดด้วยไอน้ำนี้   จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาสภาพของสิ่งแวดล้อม ได้       และเวลาสำหรับรายการ  “  จากแฟ้มงานวิจัย  มก. “  ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้ว  พบกับรายการนี้ได้ใหม่ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  สำหรับวันนี้สวัสดีครับ