รายการวิทยุเรื่อง “การผลิตพืชผักอินทรีย์จากชีววิธี”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=VlhGqSruovg[/youtube]

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์  ที่14 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557

เรื่อง การผลิตพืชผักอินทรีย์จากชีววิธี

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

                 สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม………………………เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดีคุณผู้ฟังทุกท่านครับ คุณผู้ฟังครับ เวลาช่วงตอนเย็นเช่นนี้ คุณผู้ฟังคงกำลังรับประทานอาหารเย็นกันอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นะครับ กระผมอยากทราบจังครับ ว่ามื้อเย็นของคุณผู้ฟังวันนี้มีผักรับประทานด้วยหรือเปล่า กระผมขอเดาว่าทุกบ้านต้องมีผักอยู่ในจานข้าวอย่างแน่นอนนะครับ ซึ่งผักจัดว่าอยู่ในหมู่ที่ 3 ของอาหารหลัก 5 หมู่ครับ ผักจะให้สารวิตามิน และแร่ธาตุเพื่อเพิ่มการทำงานของร่างกาย และทราบไหมครับว่าผักที่รับประทานอยู่ทุกวันนี้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ตามเม็ดสี แต่ละสีให้ประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร กระผมจะขอยกตัวอย่าง ผักสีแดงแล้วกันนะครับ เช่นจำพวก พริกแดง มะเขือเทศ จะช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมอง ผักสีส้ม สีเหลือง เช่น ฟักทอง แครอท จะช่วยบำรุงสายตา บำรุงหัวใจ และหลอดเลือด ผักสีเขียว เช่น ผักใบเขียวต่างๆ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของร่างกาย และช่วยทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อผลเสียต่อสุขภาพ บำรุงสมอง ความจำ และบำรุงสุขภาพของผู้สูงอายุ ผักสีขาว สีน้ำตาลอ่อน เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ ช่วยลดความดันโลหิต ลดคอเรสเตอรอล ต่อต้านการเกิดเนื้องอก ป้องกันมะเร็ง ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด …คุณผู้ฟังทราบถึงประโยชน์ของผักแต่ละสีแล้วนะครับ กระผมขอแนะนำให้คุณผู้ฟังเลือกทานผักให้หลากสีสันนะครับ เพื่อที่จะได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้น

คุณผู้ฟังครับ ปัจจุบันผู้บริโภคได้หันมาให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานพืชผักอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่ร่างกาย แต่พบว่าปัญหาในการผลิตผักในปัจจุบันคือ เกษตรกรผู้ผลิตขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพตกต่ำ และสารปนเปื้อนตกค้าง อันมีสาเหตุมาจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โรคและแมลงเข้าทำลายเชื้อราในดินเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพืชเข้าทำลายระบบรากพืชครับ โดยจะพบว่าพืชแสดงอาการเหี่ยวแห้ง หรือตายเป็นกิ่งๆ จนกระทั่งตายยืนต้นในที่สุด แต่ว่า พืชจะแสดงอาการเป็นโรคขั้นรุนแรงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสาเหตุ และช่วงระยะเวลาการเจริญของพืช …คุณผู้ฟังครับ เชื้อราในดินที่เป็นสาเหตุของโรคพืชส่วนมากมักจะมีชีวิตอยู่ในดินเป็นระยะเวลานาน และสามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีแหล่งอาหารและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมครับ

-เพลงประจำรายการ-

                 คุณผู้ฟังครับ การควบคุมโรคพืชนั้นทำได้หลายวิธีครับ เช่น การควบคุมการใช้สารเคมี การปลูกพืชหมุนเวียน และวิธีทางเขตกรรม เช่น การขุดฝัง เผาทำลายส่วนของพืชที่เป็นโรค แต่อย่างไรก็ตามครับ การใช้สารเคมียังเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมใช้กันมากที่สุด และใช้กันอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าการควบคุมโรคจะยังไม่ได้ผลมากนัก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต ดังนั้นจึงมีวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดต้นทุนของการควบคุมโรคได้ครับ วิธีการที่ว่านั่นก็คือการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี คุณผู้ฟังครับชีววิธีที่ว่านี้คือ การลดปริมาณ และกิจกรรมเชื้อโรคโดยส่งเสริมและพัฒนาใช้สิ่งมีชีวิตรวมทั้งจุลินทรีย์ ที่อยู่ตามธรรมชาติในดิน และที่ผิวรากพืชให้สามารถทำลายการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชลงได้ จนเกิดสมดุลทางชีวภาพ ซึ่งนักวิจัยคุณวุฒิชัย ทองดอนแอ และคณะ จากฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ได้วิจัยเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์โดยวิธีชีววิธีในระดับท้องถิ่น .. โดยจัดฝึกอบรมแก่กลุ่มเกษตรกรผู้สนใจ จำนวน 2 รุ่น แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 นั้น คือ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกวางตุ้ง คะน้า พริก แตงกวา ข้าวโพดฝักอ่อน รุ่นที่ 2 นั้น คือเกษตรกรผู้ปลูก พริก แตงกวา ถั่วฝักยาว กระชาย ผักชีฝรั่ง …นอกจากให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีเหมาะสมแล้ว ยังขยายผลให้ชุมชนข้างเคียงต่อไปได้ด้วยครับ

คุณผู้ฟังครับการผลิตพืชผักอินทรีย์โดยชีววิธีเป็นการแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในพืชผัก สุขอนามัยของผู้ผลิต คือเกษตรกร โดยเน้นให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค ตรงกับตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ  อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยครับ …เป็นที่เชื่อกันว่า วิธีการผลิตพืชผักอินทรีย์สามารถที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม แม้ว่าการผลิตพืชผักอินทรีย์นั้นจะเน้นใช้วิธีการส่วนใหญ่จากประสบการณ์ของคนในท้องถิ่นที่ได้สะสมมา และจากการถ่ายทอดสืบต่อมาชั่วอายุคน อย่างไรก็ตามนะครับ การผลิตพืชผักอินทรีย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการยอมรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ต้องมีข้อแม้ว่า เทคโนโลยีนั้นต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ใช้หลักการพึ่งพาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สามารถทำให้ คน สัตว์ ต้นไม้ จุลินทรีย์ อยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่สะอาด อุดมสมบูรณ์ มีความยั่งยืนได้

คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร กระผมเดาว่าคุณผู้ฟังต้องมีคำตอบอยู่ในใจแล้วละครับ แต่ลองมาฟังกระผมดูนะครับ เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรชีวภาพ หรือ Oraganic Agriculture คือการทำเกษตรเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุชนรุ่นหลัง โดยพัฒนาปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ โดยหยุดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษทางการเกษตร เช่น ยาปราบศัตรูพืช ครับ

เกษตรอินทรีย์มีแนวคิดพื้นฐานคือ การบริหารจัดการการผลิตทางการเกษตรแบบองค์รวมครับ แตกต่างจากเกษตรแผนใหม่ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูงสุด เกษตรอินทรีย์จะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด ไปพร้อมๆ กันครับ

คุณผู้ฟังครับ. . แล้วทำไมจะต้องเลือกทำเกษตรอินทรีย์ครับ เพราะเกษตรอินทรีย์จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น คนในชุมชนผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เอง เพราะในชุมชนมีวัตถุดิบมากพอที่จะนำปุ๋ยมาใช้ได้ อีกทั้งข้อดีของการใช้ปุ๋ยชีวภาพคือ ช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น  และอยู่ในดินได้นาน เพราะจะค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้าๆ เมื่อผลผลิตเจริญเติบโต และนำผลผลิตออกมาขายยังตลาด เกษตรกรผู้ผลิตจะมีความภาคภูมิในที่ได้ขายพืชผักที่ไม่มีสารพิษตกค้างแก่ผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคทานเข้าไปก็จะได้รับแต่คุณค่าทางโภชนาการ

-เพลงประจำรายการ-

                 คุณผู้ฟังครับ เมื่อได้ผลผลิตออกมาแล้วนั้น ผลผลิตนั้นควรจะมีมาตรฐาน ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมากครับ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ถือเป็นมาตรฐานที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคอย่างมาก โดยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีทั้งมาตรฐานของงประเทศไทย เช่น มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตร และมาตรฐานต่างประเทศ เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับในประเทศไทยนั้น มีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นผู้จัดทำมาตรฐานครับ โดยจะให้การรับรองเฉพาะขอบข่ายของ การผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีครับ

ในเรื่องของประโยชน์ที่ได้รับจากการมีหน่วยงานรองรับนั้น กระผมจะขอยกตัวอย่าง เช่น ลดความซ้ำซ้อนด้านการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหาร ณ ประเทศ ปลายทาง หรือสร้างความยอมรับในระบบการตรวจประเมิน หรือลดอุปสรรคทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อการส่งออกของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในตลาดโลก อีกทั้งยังนำมาซึ้งความเชื่อมั่น ชื่อเสียง รายได้แก่ประเทศครับ

คุณผู้ฟังครับ อย่างที่กล่าวไว้ช่วงต้นรายการว่างานวิจัยชิ้นนี้แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 2 รุ่น นั้น กระผมจะขอเล่าให้ฟังครับ ว่าแต่ละรุ่นนั้น เค้าเรียนรู้อะไรกันไปบ้าง …รุ่นที่ 1 คือเกษตรกรผู้ปลูกกวางตุ้ง ครับน้า พริก แตงกวา ข้าวโพดฝักอ่อน ณ บ้านหนองขโมย ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมครับ พบว่าดินนั้นมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 6.0-7.5 ดินเป็นกลางในพื้นที่เพาะปลูกครับ  เกษตรกรส่วนใหญ่ ดินขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากปลูกผักซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานครับ เช่น ข้าวโพดฝักอ่อนตัดต้นนำไปเลี้ยงโคนม โดยไม่ได้ใส่ปุ๋ยคอกกลับไปปรับปรุงดิน ปลูกติดต่อกันหลายๆ ปีครับ จึงเป็นเหตุให้ดินเสื่อมโทรม ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมีราคาแพง จึงมีต้นทุนการผลิตสูงครับ

อีกทั้งยังใช้ปุ๋ยคอกแห้ง ใส่ลงแปลงปลูกไม่ถูกวิธีครับ เพราะปุ๋ยนั้นไม่ได้ผ่านขบวนการหมักนำไปใช้กับพืชโดยตรง พอเวลานำไปใช้จึงทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่ากับพืชผักที่ปลูกครับ ปัญหาของเกษตรกรรุ่นที่ 1 ที่พบอีกคือ ประสบปัญหาด้านการตลาด

คุณผู้ฟังครับ สำหรับรุ่นที่ 2 คือผู้ปลูกพริก แตงกวา ถั่วฝักยาว ณ บ้านดอนตาก่าน ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นั้น พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย ค่าความเป็นกรด-ด่าง  อยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 ครับ ดินค่อนข้างเป็นกรดอ่อนในพื้นที่เพาะปลูก และขาดความอุดมสมบูรณ์ด้วยครับ ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่คือ ปัญหาดินดินที่ปลูกพืชซ้ำๆ กันมานาน เช่น กระชาย ผักชีฝรั่ง จนเกิดการสะสมของโรคและแมลง อีกทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมี มีราคาแพง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงครับ เช่นเดียวกับรุ่นที่  ครับ สำหรับการใส่ปุ๋ยคอกแห้งลงแปลงปลูกไม่ถูกวิธีนั้น ส่งผลให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าของพริกระบาดกับพืชผักที่ปลูกครับ

คุณผู้ฟังครับ ทางโครงการจึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกรทั้ง 2 รุ่น โดยหลักสูตรที่ถ่ายทอดมีภาคบรรยาย เช่น เรื่อง การตลาดพืชผักอินทรีย์ในประเทศ และต่างประเทศ หรือ เรื่องพันธุ์พืช และการเตรียมแปลงปลูก หรือเรื่องการตรวจคุณภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปุ๋ยอินทรีย์ และธาตุอาหาร เป็นต้นครับ …ในส่วนของภาคปฎิบัตินั้น เน้นเรื่องการตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ การปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก และการนำไปใช้ประโยชน์ การใช้สมุนไพรทางการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เข้าอบรม

 

-เพลงประจำรายการ-

                 คุณผู้ฟังครับ ผลสรุปจากงานวิจัยชิ้นนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชผักอินทรีย์โดยชีววิธีในระดับท้องถิ่น ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรและผู้นำชุมชน รวม 2 รุ่น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาด้านระบบการผลิตครับ ขาดความรู้เรื่องการปรับปรุงดิน การดูแลรักษาต้นพืช การวางแผนการผลิตที่เหมาะสม และผลผลิตที่มีคุณภาพให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด

นอกจากนั้นนะครับ กลุ่มเกษตรกรยังเข้าไม่ถึงตลาด เพราะต่างคนต่างผลิต ต่างขาย จึงประสพกับปัญหาราคาตกต่ำเป็นบางครั้งบางครา จึงขาดทุนอยู่เป็นประจำครับ ดังนั้นทางโครงการได้ถ่ายทอดความรู้และแนะนำให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิต เพื่อที่จะได้มีอำนาจในการต่อรองราคาได้มากขึ้นครับ และจัดหาตลาดผู้ซื้อ ผู้ขาย ล่วงหน้า เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร เช่น มั่นใจได้ว่าผลผลิตนั้นมีผู้รับซื้อแน่นอน หรือลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา เป็นต้นครับ อีกทั้งได้วางแผนล่วงหน้าการผลิตให้พืชผักมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานของตลาด ครับ

สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันเวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ.1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ