เรื่อง การผลิตมะนาวนอกฤดู

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=1PaAVK0XoNE[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่29 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง  การผลิตมะนาวนอกฤดู

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

 

-เพลงประจำรายการ

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย        ฝ่ายประยุกต์และถ่ายทอดงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีกระผม…………………………………………เป็นผู้ดำเนินรายการ วันนี้กระผมขอเสนอเรื่อง “การผลิตมะนาวนอกฤดู”

คุณผู้ฟังครับ ถึงแม้ว่า “มะนาว” จะเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว แต่ก็เป็นผลไม้ที่ขาดไม่ได้ในครัวเรือนของเราเลยใช่ไหมครับ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารที่มีรสจัด เช่น ต้มยำ ยำ น้ำพริก ส้มตำ ลาบ น้ำตก อาหารเหล่านี้ล้วนใช้น้ำมะนาวมาปรุงรสทั้งสิ้นครับ ทำให้มะนาวเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูงตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูฝนมีมะนาวออกมามากมะนาวก็จะมีราคาถูก แต่ในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี มะนาวจะมีราคาสูงกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งจะมีผลผลิตมะนาวออกสู่ตลาดน้อย

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว เกษตรกรและนักวิชาการจำนวนมากจึงได้พยายามค้นคว้าและศึกษาหาวิธีการเพื่อที่จะผลิตมะนาวนอกฤดู แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่พบว่ามีวิธีการหรือสูตรสำเร็จใดๆ ที่จะทำให้การผลิตมะนาวนอกฤดูได้ผลอย่างเต็มที่ ซึ่งจะต้องใช้วิธีการหลายๆ อย่างมาประกอบกัน เกษตรกรจึงจะประสบความสำเร็จในการผลิตมะนาวนอกฤดู

คุณผู้ฟังครับ ก่อนอื่นเรามารู้จักกับมะนาวที่นิยมปลูกในประเทศไทยกันก่อนนะครับ

มะนาวเป็นไม้ผลตระกูลส้มครับ มีการปลูกอย่างแพร่หลาย โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี สมุทรสาคร นครปฐมและเชียงใหม่  พันธุ์มะนาวที่ปลูกเพื่อการค้าในประเทศไทย ได้แก่

1.มะนาวหนัง ลักษณะกลมยาวหัวท้ายแหลม เมื่อโตเต็มที่ ผลจะมีลักษณะกลมค่อนข้างยาว มีกลมมนบ้างเล็กน้อย ด้านหัวมีจุกเล็กๆ มีเปลือกค่อนข้างหนา จึงทำให้เก็บรักษาผลไว้ได้นาน

2.มะนาวไข่ มีขนาดและลักษณะคล้ายมะนาวหนังเกือบทุกอย่าง ผลอ่อนมีลักษณะกลมยาว หัวท้ายแหลม เมื่อโตเต็มที่ผลจะมีลักษณะกลมมนเป็นส่วนมาก เปลือกบาง ผลโตกว่ามะนาวหนัง

3.มะนาวแป้น เป็นมะนาวที่สามารถออกดอกผลตลอดปี ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แป้นรำไพ แป้นทราย เป็นต้น

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ โดยทั่วไปแล้วมะนาวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินทราย แต่ถ้าต้องการจะปลูกมะนาวให้เจริญงอกงามดี มีผลดกและคุณภาพดี ก็ควรจะปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุผสมอยู่มาก การปลูกมะนาวนั้นทำได้โดยขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 ซม. ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตเข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม จากนั้นยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุมโดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นขึ้นมาถึงปากถุงทั้งสองด้าน ซ้ายและขวา ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม กดดินปริเวณโคนต้นให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดเพื่อป้องกันลมพัดโยก จากนั้นหาฟางข้าวหรือหญ้าแห้งมาคลุมดินบริเวณโคนต้น แล้วรดน้ำให้โชก ทำร่มเงาเพื่อช่วยพรางแสงแดด ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำวันละครั้ง หลังจากต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้วการให้น้ำสามารถเว้นระยะให้นานขึ้นได้ และควรหาวัสดุมาคลุมดินบริเวณโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชื้น หลังจากมะนาวออกดอกและกำลังติดผลอ่อนเป็นช่วงที่มะนาวต้องการน้ำมากเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของผล จึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ผลมะนาวจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อผลมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยสังเกตจากด้านขั้วของผลเริ่มมีสีเหลืองเล็กน้อยผิวเปลือกจะเรียบบางใส มีสีเขียวอ่อนกว่าผลที่ยังไม่แก่ เมื่อบีบดูจะค่อนข้างนุ่มมือ ไม่ควรเก็บมะนาวที่แก่เกินไปเพราะเปลือกจะบางมาก ทำให้เกิดความเสียหายในการขนส่งได้ง่าย อีกทั้งเมื่อนำไปขายจะทำให้ขายได้ไม่นานผลเน่าเสียหายได้เร็ว

คุณผู้ฟังครับ ในส่วนของการปลูกมะนาวนอกฤดูนั้น เกษตรกรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับอายุของการเก็บเกี่ยวมะนาวก่อนครับ โดยอายุการเก็บเกี่ยวของมะนาวนั้น ถ้านับตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่จะอยู่ในช่วงประมาณ 4 เดือนครึ่งถึง 5 เดือนครึ่ง โดยเปลือกจะเริ่มบางลงในระยะแรก ต่อมาเปลือกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองเมื่ออายุประมาณ 5 เดือน และเหลืองสดในระยะสุดท้ายก่อนที่จะร่วงหล่นไป ดังนั้น มะนาวจึงมีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวที่ยืดหยุ่นอยู่บนต้นได้ประมาณ 1 เดือน แต่ในหน้าหนาวมะนาวจะมีการเปลี่ยนสีเร็วทำให้ผลสุกและร่วงเร็วขึ้น ตามปกติมะนาวจะมีดอกชุดสุดท้ายประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม และออกดอกชุดใหญ่ประมาณปลายมีนาคมและเมษายน จากนั้นจะมีการออกดอกมากอีกครั้งในช่วงสิงหาคมและกันยายน หากเกษตรกรต้องการผลิตมะนาวนอกฤดูจะต้องหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งการสร้างดอกของมะนาวในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนให้ได้ครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ หากต้องการผลิตมะนาวนอกฤดูให้ได้ผล ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับต้นมะนาวก่อนครับ ขั้นแรกคือการปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาว ทำได้โดยการตัดแต่งกิ่งซึ่งนอกจากสามารถกำจัดดอกได้บางส่วนแล้วยังช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ สำหรับดอกและผลที่เหลือสามารถใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตหรือฮอร์โมนมาช่วยได้ ขั้นที่สองคือการยับยั้งการออกดอกของต้นมะนาวในฤดู เมื่อปลิดดอกและผลอ่อนออกหมดแล้ว หากยังไม่ถึงช่วงที่จะชักนำให้มะนาวออกดอกจึงจำเป็นที่จะต้องยืดระยะนี้ออกไป และสารที่ใช้คือ จิบเบอเรลลิกแอซิด หรือเรียกกันว่า GA หรือ GA3 ซึ่งสารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านและใบ และมีผลในการยับยั้งการออกดอก จากการทดลองใช้ GA พ่นให้กับต้นมะนาวในระยะก่อนผลิยอดอ่อนหรือระยะที่เพิ่งผลิยอดยาวไม่เกิน 3 นิ้ว พบว่า สามารถยับยั้งการออกดอกได้ดี แต่หากพ่นช้ากว่านี้ไม่สามารถยับยั้งได้เนื่องจากมีการสร้างตาดอกขึ้นแล้ว สำหรับความเข้มข้น 25 ส่วนในล้าน จะสามารถยับยั้งได้ประมาณ 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือนครึ่ง ส่วนการใช้ที่ความเข้มข้น 50 ส่วนในล้านนั้น อาจยืดระยะการออกดอกได้มากกว่า 3 เดือน แต่อาจมีผลตกค้างต่อการชักนำให้ต้นมะนาวออกดอกเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ ขั้นที่สามคือการกำจัดใบ รูดใบมะนาวออกให้หมดเพื่อชักนำให้มีการออกดอก แม้ว่าการกระทำดังกล่าวสามารถชักนำให้ออกดอกได้ แต่ดอกที่ได้เป็นดอกที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากนั้นยังกระทบถึงความสมบูรณ์ของต้นมะนาวอีกด้วย แต่สำหรับต้นมะนาวที่สมบูรณ์มากที่เรียกว่า บ้าใบ การปลิดใบออกบ้างบางส่วน อาจมีผลต่อการปรับระดับไนโตรเจนในต้นให้ต่ำลง ซึ่งอาจช่วยให้การออกดอกดีขึ้น และขั้นสุดท้ายคือการใช้สารเคมีในกลุ่มชะลอการเจริญเติบโตโดยเฉพาะ แพคโคลบิวทราโซล พบว่ามีบทบาทที่จะยับยั้งการสังเคราะห์ GA ในธรรมชาติ ดังนั้นพืชจึงมีการเจริญทางกิ่งใบลดลง ส่งผลให้โอกาสในการออกดอกมีมากขึ้น

คุณผู้ฟังครับ สิ่งที่กระผมจะกล่าวต่อไปนี้คือ ปฏิทินการผลิตมะนาวนอกฤดูครับ หากเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ ก็จะช่วยให้การผลิตมะนาวนอกฤดูของเกษตรกรได้ผลมากยิ่งขึ้นครับ

เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นระยะที่มะนาวมีการแตกกิ่งก้านออกมาใหม่ ทำได้โดยการป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอ ในระยะนี้จะมีหนอนชอนใบระบาดมากซึ่งจะทำให้มีการระบาดของโรคแคงเกอร์ตามมาด้วย ส่วนผลที่ติดอยู่ในระยะนี้จะไปแก่ในระยะที่ราคาถูก ควรทำการปลิดผลออกให้หมด

เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เกษตรกรควรเลือกเก็บเกี่ยวผลที่แก่ตามฤดูกาลปกติไปจำหน่าย ป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงเดือนกรกฎาคมให้ตัดแต่งกิ่งอีกครั้ง ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ปริมาณ 1 กก.ต่อต้น เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของต้น ต้นที่สมบูรณ์ใบจะมีขนาดใหญ่ มีสีเขียวเข้ม ไม่มีอาการเหลืองซีด

-เพลงคั่นรายการ-

 

เมื่อถึงเดือนสิงหาคม     ให้ทำการราดสารเคมี เพื่อกระตุ้นการออกดอกนอกฤดู ซึ่งวิธีเตรียมสาร เพื่อให้ได้อัตราเนื้อสาร 1.5 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร มีวิธีการดังนี้

ขั้นแรก ตวงน้ำใส่ถัง 75 ลิตร ผสมสารพาโคลบิวทราโซล 1 กก.ลงในน้ำที่ตวงไว้ จากนั้นใช้ขวดน้ำขนาด 1 ลิตร ตวงน้ำที่ผสมสาร เพื่อนำไปราดต้นมะนาวอัตราเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มของต้นมะนาว 1 เมตร ต่อน้ำผสมสารแล้ว 1 ขวด ถ้ามีต้นมะนาวจำนวนไม่มาก ควรเตรียมสารเพื่อราดต้นมะนาวเป็นต้นๆ ไป เช่น ต้นมะนาวที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร ให้ใช้สารพาโคลบิวทราโซล จำนวน 45 ซีซี หรือ 45 กรัมต่อน้ำ 2-3 ลิตร ราดสารลงที่โคนต้นมะนาวโดยรอบ หลังจากราดสาร ควรเป็นช่วงที่ฝนไม่ตกมาแล้ว 2-3 วัน จะช่วยให้ต้นมะนาวดูดสารได้ดีขึ้นกว่าการราดสารขณะที่ฝนตกใหม่ๆ จากนั้นปลิดผลมะนาวขนาดเล็กออกบ้างเพราะผลขนาดเล็กระยะนี้จะไปแก่ในช่วงที่ยังราคาไม่ดี และจะทำให้การออกดอกใหม่ไม่ดีเท่าที่ควรครับ

เดือนกันยายน           หลังจากที่ราดสารเคมีไปแล้ว 1 เดือน ควรทำการควั่นกิ่ง วิธีการเลือกกิ่งควั่น มีดังนี้      1.เลือกกิ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว โดยใช้ลวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/8 นิ้ว รัดที่กิ่ง ใช้คีมบิดลวดจนเปลือกไม้ยุบตัวถึงเนื้อไม้

2.ควั่นกิ่งประมาณ 3-5 กิ่ง

3.ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 อัตรา 0.5 กก.ต่อต้น หรือพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 80 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อน

4.เมื่อครบ 1 เดือนแล้วให้คลายขดลวดออกทิ้งไป ซึ่งจะตรงกับระยะที่ต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกพอดี

เดือนตุลาคม เป็นระยะ 2 เดือนหลังจากราดสารหรือ 1 เดือนหลังจากควั่นกิ่ง ต้นมะนาวจะเริ่มออกดอก ให้สังเกตดูว่ามีการออกดอกสม่ำเสมอทั้งต้นหรือไม่ ถ้ายังออกไม่สม่ำเสมอทั้งต้นควรเร่งการออกดอกด้วยการพ่นสารไธโอยูเรีย อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หากใช้อัตราสูงมากกว่านี้อาจทำให้ใบร่วงได้ และควรพ่นในระยะที่ไม่มีฝน จากนั้นทำการป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระยะนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่นเพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยหอย

เดือนพฤศจิกายน เป็นระยะที่ดอกบาน จึงไม่ควรพ่นสารเคมีในระยะดอกบานเป็นเวลา 10-15 วัน เพราะจะทำให้การผสมเกสรไม่ดี การติดผลน้อยลง ศัตรูที่มีการระบาดในระยะนี้ ได้แก่ เพลี้ยไฟ ไรแดง โรคแคงเกอร์

เดือนธันวาคม เป็นระยะที่ติดผลขนาดเล็ก เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผล หากใบมีอาการเหลืองซีด ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบจะช่วยให้มีความสมบูรณ์ดีขึ้น

เดือนมกราคม-มีนาคม ระยะนี้ผลจะมีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอและจะหยุดการเจริญเติบโตหลังติดผลแล้วประมาณ 4 เดือน ผลมีน้ำหนักมากขึ้น เกษตรกรสามารถเลือกเก็บผลออกไปจำหน่ายได้ ในระหว่างนี้ควรมีการป้องกันกำจัดศัตรูมะนาวเป็นระยะ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ เมื่อถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะหลังจากติดผลแล้วประมาณ 5 เดือน ผลส่วนใหญ่จะโตเต็มที่สามารถเก็บเกี่ยวไปจำหน่ายได้ บางผลจะเริ่มเปลี่ยนสีผิวเป็นสีเหลืองและร่วงในที่สุด กรณีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจะทำให้ขายไม่ได้ราคา เมื่อเก็บเกี่ยวผลออกไปจำหน่ายแล้วเกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กก.ต่อต้น และปุ๋ยคอกจำนวน 10 กก.ต่อต้น หลังตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นมีการสร้างกิ่งใหม่ รวมถึงเป็นการลดปริมาณดอกและผลขนาดเล็กที่เป็นผลผลิตในฤดูปกติได้อีกด้วย

สำหรับต้นมะนาวที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป ควรตัดแต่งกิ่งออกประมาณ 1 ใน 3 ของทรงพุ่ม เพื่อลดขนาดของทรงพุ่มลงรวมถึงกิ่งกระโดง กิ่งในร่ม กิ่งที่ถูกแมลงและโรคเข้าทำลาย ควรตัดออกให้หมดด้วย โดยสังเกตครึ่งล่างของทรงพุ่มจะโปร่ง เพราะไม่มีกิ่งขนาดเล็กเหลืออยู่เลย

คุณผู้ฟังครับ ในช่วงที่มะนาวล้นตลาดมากเกินไป เกษตรกรอาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตมะนาวเน่าเสีย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีวิธีการเก็บรักษามะนาวไว้ให้นานครับ ซึ่งสามารถทำได้โดยทำการคัดผลมะนาวเสียก่อน โดยเลือกเอาผลมะนาวที่แก่พอเหมาะ มีสีเขียวจัด ไม่มีสีเหลืองปน ไม่มีรอยช้ำหรือเน่า และควรมีขั้วผลติดอยู่ด้วย จากนั้นนำมาล้างทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรอกซ์ ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 15 แช่ผลมะนาวไว้นานประมาณ 5 นาที แล้วนำผลมะนาวมาผึ่งลมบนตะแกรงเพื่อให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นคัดขนาดและบรรจุเข่งหรือภาชนะบรรจุอื่นๆ ตามที่ตลาดต้องการ

หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลมะนาวได้หลายเดือนหากมีกรรมวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งมีวิธีการดังนี้ เก็บเกี่ยวผลมะนาวในระยะที่แก่แต่ผิวยังมีสีเขียวหรือเหลืองเล็กน้อยโดยอย่าให้ช้ำ จากนั้นนำมาแช่ในสารละลายที่มี GA 50 ส่วนในล้านผสมกับสารป้องกันและกำจัดเชื้อราความเข้มข้น 500 ส่วนในล้าน ประมาณ 30 นาที  นำมาผึ่งลมให้แห้งหรือซับด้วยฟองน้ำ บรรจุใส่ถุงพลาสติกแล้วเก็บใส่ห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ในระดับ 10 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ควรมีการนำมะนาวออกมาตรวจสอบบ้าง ประมาณ 15 วันต่อครั้ง เพื่อกำจัดผลที่มีเชื้อโรคเข้าทำลาย  เพราะเชื้ออาจลามไปยังผลอื่นๆ และจากการทดลองพบว่า วิธีดังกล่าวสามารถเก็บรักษามะนาวให้สดอยู่ได้นานกว่า 3 เดือน

เป็นอย่างไรบ้างครับคุณผู้ฟัง กับวิธีการผลิตมะนาวนอกฤดู สิ่งที่จะต้องเน้นย้ำให้คุณผู้ฟังได้ทราบอีกครั้งหนึ่งก็คือ หากเกษตรกรต้องการผลิตมะนาวนอกฤดูจะต้องหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งการสร้างดอกของมะนาวในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวออกดอกตามฤดูให้ได้ครับ และต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับมะนาว หลังจากนั้นจึงปฏิบัติตามปฏิทินการผลิตมะนาวนอกฤดูครับ กระผมหวังว่า สาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ  คุณผู้ฟังสามารถติชมรายการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยการเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 และ 0-2579-5548 ในวันและเวลาราชการครับ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ