การผลิตยาและวัคซีนฆ่าเห็บโค โดย รศ.ดร.ณรงค์ จึงสมานญาติ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=qV9sts85SmU[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่15 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง  การผลิตยาและวัคซีนฆ่าเห็บโค

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณผู้ฟังครับ ในการทำฟาร์มเลี้ยงโคนั้น นอกจากโรคระบาดต่างๆ ที่เป็นปัญหากวนใจของเกษตรกรแล้ว ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่นับได้ว่ากวนใจเกษตรกรและสร้างความเสียหายให้กับโคอยู่ไม่น้อย ปัญหาที่ว่านั่นก็คือ ปัญหาเห็บที่คอยดูดเลือดโคนั่นเองครับ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเห็บโค ที่มีกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ของเห็บ ทำให้เกษตรกรไทย ต้องประสบปัญหานี้มาโดยตลอด

เห็บโค เป็นพยาธิภายนอกที่ก่อความเสียหายต่อการเลี้ยงโคมากที่สุด เห็บโคมีการแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก พบในที่ที่มีการเลี้ยงโค และพบในสัตว์ป่า พวกสัตว์กีบและอาจพบได้ในแพะ แกะ สุกรและสุนัขด้วยครับ

เห็บโคมีการเจริญจากตัวอ่อน เป็นตัวกลางวัยและโตเต็มวัยอยู่บนตัวโคเพียงตัวเดียว ไม่เหมือนกับเห็บสุนัข ที่มีการปล่อยตัวลงพื้นมาลอกคราบ เพื่อเจริญไปเป็นตัวกลางวัย และปล่อยตัวลงพื้นอีกครั้งเพื่อลอกคราบไปเป็นตัวเต็มวัย การปล่อยลงพื้นแล้วขึ้นบนตัวสุนัขใหม่นั้น อาจจะขึ้นบนสุนัขตัวอื่นที่ไม่ใช่ตัวเดิมก็ได้

เห็บโคตัวเมียที่ดูดเลือดจนตัวเปล่งโตเต็มที่แล้ว จึงปล่อยตัวลงพื้น คลานไปหาที่ออกไข่ ซึ่งจะเป็นที่ที่ไม่มีแดดส่อง ถ้าเห็บหล่นในคอกโค มันจะคลานไปไข่ตามซอกมุมคอก ตามกองมูลสัตว์ ตามกองหญ้า ถ้าเห็บหล่นในแปลงหญ้า มันจะออกไข่บริเวณโคนกอหญ้าหรือใต้มูลโค โดยเห็บตัวเมียจะเริ่มออกไข่ภายใน 2-3 วัน หลังจากหล่นลงพื้น และจะออกไข่หมดภายใน 1 สัปดาห์ เห็บตัวเมียหนึ่งตัวจะออกไข่เฉลี่ย 1800 ฟอง  เมื่อออกไข่หมดก็จะตายครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

          คุณผู้ฟังครับ ไข่เห็บที่อาศัยอยู่ในที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง  เมื่อครบ 3 สัปดาห์  ไข่จะฟักเป็นตัวเห็บอ่อน มีขา 6 ขา ขนาด 1-2 มิลลิเมตร จากนั้นเห็บตัวอ่อนจะไต่ขึ้นที่สูงไปอยู่บนยอดหญ้า เพื่อรอเกาะติดขาโคที่เดินผ่านมา หรือเมื่อเราเกี่ยวหญ้ามาให้โคกิน เห็บตัวอ่อนก็จะติดมาด้วย เห็บตัวอ่อนสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 2-3 เดือน หรือถึง 6 เดือน ถ้าในแปลงหญ้านั้นมีความชื้นสูง

เมื่อเห็บตัวอ่อนขึ้นบนตัวโค เห็บตัวอ่อนจะดูดกินเลือดโค 1 สัปดาห์ แล้วลอกคราบ เป็นเห็บตัววัยรุ่น มีขา 8 ขา ดูดเลือดโคอีก 1 สัปดาห์จึงลอกคราบ เป็นเห็บตัวเต็มวัย แยกเพศเป็นเห็บตัวผู้และเห็บตัวเมียได้ หลังจากนั้นจะผสมพันธุ์กันทันทีหลังลอกคราบ และดูดกินเลือดโคต่ออีกประมาณ 1 สัปดาห์  เห็บตัวเมียจึงจะโตเต็มที่  พร้อมที่จะหล่นลงไปหาที่วางไข่ รวมเวลาที่เห็บดูดกินเลือดอยู่บนตัวโคประมาณ  3-4  สัปดาห์   เห็บตัวเมียตัวเปล่งเท่านั้นที่จะปล่อยตัวหล่นลงพื้นไปออกไข่ เมื่อออกไข่หมดก็จะตาย ไม่สามารถไต่ขึ้นตัวโคเพื่อมาดูดเลือดใหม่ได้ เห็บที่ไต่ขึ้นตัวโคใหม่นั้นจะเป็นเห็บตัวอ่อนเท่านั้น    รวมระยะเวลาวงจรชีวิตของเห็บแล้ว ใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์  ในกรณีที่เห็บตัวอ่อนนั้นฟักออกมาแล้วหาโคพบและไต่ขึ้นดูดเลือดโคเลย แต่ถ้าเห็บตัวอ่อนตัวไหนที่ยังไม่พบโคและยังไม่ตาย  วงจรของเห็บตัวนั้นโดยรวมแล้วก็จะเกิน 8 สัปดาห์ครับ

ดังนั้น ในการกำจัดเห็บโค จึงควรฉีดพ่นยาฆ่าเห็บตัวอ่อนที่ขึ้นใหม่ที่ตัวโคทุกสัปดาห์ ก่อนที่เห็บตัวอ่อนจะลอกคราบกลายเป็นเห็บวัยรุ่นครับ

คุณผู้ฟังครับ คุณผู้ฟังทราบมั้ยครับว่า เห็บ จะดูดเลือดโคอย่างน้อย 0.5 ซีซี ต่อเห็บหนึ่งตัว ดังนั้นถ้าปล่อยให้โคมีเห็บจำนวนมาก จะทำให้โคเสียเลือดมาก ซูบผอม ไม่เจริญเติบโต สุขภาพทรุดโทรม น้ำหนักลด น้ำนมลด ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ถ้าหากเกษตรกรทราบช้าและทำการรักษาช้าโคอาจตายได้ครับ เกษตรกรจึงควรหมั่นตรวจดูว่าโคนั้นมีเห็บเกาะอยู่หรือไม่ หลังจากนั้นจึงรีบทำการรักษาให้ทันท่วงทีครับ

ในการกำจัดเห็บโคนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ยาฆ่าเห็บที่มีขายในท้องตลาด ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ มีฤทธิ์ในการเสื่อมสลายช้า ก่อให้เกิดสายพันธุ์เห็บที่ดื้อยาฆ่าเห็บได้ เนื่องจากเห็บได้สัมผัสกับโครงสร้างทางเคมีที่ไม่เปลี่ยนแปลงของยาฆ่าเห็บสังเคราะห์เป็นเวลานาน จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์รุ่นใหม่ที่ดื้อยาหรือทนต่อยาฆ่าเห็บสังเคราะห์นั้นๆ อีกทั้งการเสื่อมสลายช้าของยาฆ่าเห็บสังเคราะห์นี้ ยังทำให้เกิดการตกค้างสะสมของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และอาจปนเปื้อนมาถึงผู้บริโภคได้ครับ ดังนั้น รศ.ดร.ณรงค์ จึงสมานญาติ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยหาพืชที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บโค ซึ่งการใช้สารสกัดจากพืชฆ่าเห็บโคนั้น มีข้อดีอยู่หลายประการครับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ในการซื้อยาฆ่าเห็บสังเคราะห์ที่มีราคาแพง เพราะเป็นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เงินไม่ออกนอกประเทศ เป็นการช่วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของไทยได้ส่วนหนึ่งครับ และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่ายาฆ่าเห็บสังเคราะห์นั้น ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค จึงเป็นการดีที่เราควรจะใช้สารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสนองกับกระแสพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกด้วยครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ จากนั้น รศ.ดร.ณรงค์  จึงได้ทำการทดสอบฤทธิ์ฆ่าเห็บ จากพืช 323 ชนิด จากการทดสอบความเข้มข้นของสารสกัดที่เกษตรกรจะนำไปใช้พ่นฆ่าเห็บแล้ว พบว่า ในสารสกัดพืช 6 ชนิด อันได้แก่ เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมันแกว ใบตะไคร้แกง ใบตะไคร้หอม เปลือกผิวส้ม และมะขามเปียกนั้น สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าจะดีที่สุดครับ รองลงมาคือสารสกัดจากเมล็ดมันแกวและมะขามเปียก เนื่องจากเป็นพืชที่รู้จักกันดี หาง่าย ราคาถูก มีฤทธิ์ฆ่าเห็บเร็ว เสื่อมสลายง่ายและสารสกัดที่ได้สามารถเจือจางได้มาก จึงขอแนะนำให้ใช้สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าเป็นยาฆ่าเห็บโคแทนยาฆ่าเห็บสังเคราะห์  ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ส่วนในบางพื้นที่ไม่สามารถหาเมล็ดน้อยหน่าได้ ก็อาจจะใช้เมล็ดมันแกวหรือมะขามเปียกแทน

ดังนั้น ในท้องถิ่นที่มีพืชดังกล่าวมากหรือหาง่าย เกษตรกรสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำไปใช้พ่นฆ่าเห็บโค หรือผลิตใช้กับโคนมของตนเองหรือผู้ผลิตสามารถรับบริการปราบเห็บโคให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งอาจจะไม่มีเวลาหรือแรงงานที่จะดำเนินการควบคุมเห็บ ซึ่งต้องพ่นทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

คุณผู้ฟังครับ วันนี้กระผมขอเสนอวิธีการทำยาฆ่าเห็บโคด้วยสารสกัดจากพืช 3 ชนิด  นั่นคือ มะขามเปียก เมล็ดมันแกว และเมล็ดน้อยหน่าครับ เพราะพืชเหล่านี้เป็นพืชที่มีราคาถูก และหาได้ง่ายตามท้องถิ่น และที่สำคัญเกษตรกรสามารถทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือมากมายด้วยครับ

สารสกัดตัวแรกที่จะนำเสนอคือ การผลิตสารสกัดที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บโคจากมะขามเปียกครับ เริ่มด้วยการเตรียมวัตถุดิบกันก่อนนะครับ  วัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตนี้คือ

1.มะขามเปียกแกะเมล็ดออก

และ 2. แอลกอฮอล์ 10% คุณผู้ฟังครับ แอลกอฮอล์ 10% ที่ว่านี้ คือการนำแอลกอฮอล์ 95% ที่สามารถหาซื้อได้ที่องค์การสุราและร้านขายยาทั่วไป มาผสมกับน้ำธรรมดาในอัตราส่วน แอลกอฮอล์ 95%  1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วนครับ หรือถ้าไม่ซื้อแอลกอฮอล์ดังกล่าวข้างต้น อาจจะซื้อเหล้าขาว 35 ดีกรี 1 ขวด ผสมกับน้ำ 2 ขวดครึ่งก็ได้เหมือนกันครับ

ส่วนขั้นตอนในการทำสารสกัดนั้น เริ่มจากการแช่มะขามเปียกในแอลกอฮอล์ 10% ในอัตราส่วน แอลกอฮอล์ 10% ในปริมาตร 5 เท่าของน้ำหนักมะขาม ตัวอย่างเช่น ถ้าใช้มะขามเปียก 100 กรัม ก็จะใช้แอลกอฮอล์ 10%  500 กรัม นั่นเองครับ จากนั้นแช่ค้างไว้ 1 คืน แล้วเทเฉพาะสารละลายมาใส่ขวด เพียงเท่านี้ก็จะได้สารสกัดจากมะขามเปียกที่สามารถฆ่าเห็บโคได้แล้วล่ะครับ ส่วนวิธีการใช้ก็คือ นำสารสกัดจากมะขามเปียกมาฉีดพ่นให้ตัวเห็บเปียกโชกด้วยน้ำมะขามนานๆ ถ้าไม่แน่ใจว่าน้ำมะขามจะแห้งเร็วไปหรือไม่ ให้พ่นซ้ำอีกครั้ง กรดอินทรีย์ที่อยู่ในมะขามอย่างเช่น อ็อกซาลิค มัลลิค ซัคซินิน ซิตริค และทาร์ทาริค กรดเหล่านี้จะเป็นตัวทำให้ผิวหนังเห็บพองเป็นแผลแตกหรือแห้งตายครับ ซึ่งการฉีดพ่นสารสกัดนี้สามารถฉีดได้บ่อยครั้งโดยไม่ต้องกลัวว่าโคจะเป็นแผล เพราะผิวหนังของโคมีไขมันมากกว่าเห็บหลายเท่าครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ สารสกัดจากพืชชนิดต่อไปที่จะกล่าวกับคุณผู้ฟังก็คือ สารสกัดจากเมล็ดมันแกวครับ  ซึ่งมีวิธีการทำดังนี้ครับ ขั้นแรกคือนำเมล็ดมันแกวมาบดให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าขาว ซึ่งเมล็ดมันแกวที่ใช้จะมีคุณภาพในการงอกที่ดีหรือไม่ดีก็ได้  จากนั้นนำผงเมล็ดมันแกวที่ห่อด้วยผ้า มาต้มในน้ำ 2 เท่าของน้ำหนักผงเมล็ดมันแกว ต้มนาน 20 นาที ในขณะที่ต้มเราต้องคอยเติมน้ำอย่าให้น้ำแห้งครับ ขั้นตอนต่อไป คือการนำผงเมล็ดมันแกวที่ต้มแล้วมากรองเอาแต่น้ำ เก็บไว้ในตู้เย็น 7-20 วัน แล้วค่อยนำไปใช้  วิธีใช้คือนำน้ำจากเมล็ดมันแกวที่แช่เย็นมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 220  ทำการฉีดพ่นฆ่าเห็บตัวอ่อนบนตัวโคทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 5 สำหรับฉีดพ่นเห็บตัวเมียแก่ไม่ให้ออกไข่ ซึ่งสารไฮด๊อกซี่โรตินอยในเมล็ดมันแกวจะมีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บตัวอ่อนได้ดีครับ

และสารสกัดลำดับสุดท้ายที่จะเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบในวันนี้ก็คือ สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าครับ ซึ่งสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่านี้ เป็นสารสกัดที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บโคได้ดีที่สุด เพราะหาง่าย  ราคาถูก  มีฤทธิ์ฆ่าเห็บเร็ว เสื่อมสลายง่ายและสารสกัดที่ได้สามารถเจือจางกับสารละลายอื่นๆ ได้มากอีกด้วยครับ  การทำสารสกัดที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บโคจากเมล็ดน้อยหน่านั้น เริ่มต้นด้วยการบดเมล็ดน้อยหน่าให้เป็นผงใส่ไว้ในขวดโหลหรือขวดแก้ว น้ำหรือนำแอลกฮอล์ 10% เทให้ท่วมผงเมล็ดน้อยหน่า หรือในอัตราส่วนของเมล็ดน้อยหน่าบด 1 ส่วนต่อน้ำหรือแอลกอฮอล์ 10% 2 ส่วนครับ จากนั้นปิดฝาขวดแล้วแช่ทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงกรองคั้นเอาแต่น้ำไว้เป็นหัวเชื้อที่จะนำไปผสมน้ำเจือจางฆ่าเห็บต่อไป  วิธีการใช้คือนำสารที่กรองเก็บไว้มาผสมกับน้ำหรือแอลกอฮอล์ 10% ในอัตราส่วน 1 ต่อ 6 ใช้สำหรับฉีดพ่นให้โดนเห็บบนตัวโค สารซควอโมซินในเมล็ดน้อยหน่าจะมีฤทธิ์ฆ่าเห็บได้ทั้งเห็บตัวอ่อน เห็บตัววัยรุ่นและเห็บตัวแก่ครับ

การพ่นฆ่าเห็บโคให้ได้ผลดีนั้น ให้พ่นฆ่าเห็บทุกวัยในครั้งแรก ด้วยสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าที่ผสมน้ำ 6 เท่า หลังจากนั้นอาทิตย์ต่อไป จะมีเฉพาะเห็บตัวอ่อนที่ขึ้นโคใหม่เท่านั้น ให้ใช้สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่ากรองเก็บเฉพาะส่วนน้ำไว้แล้ว มาเจือจางด้วยน้ำ หรือแอลกอฮอล์ 10 % ในอัตราส่วน1 ต่อ 300  พ่นฆ่าเห็บตัวอ่อนเป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พ่นติดต่อกันทุกสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 8-16 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนที่ขึ้นใหม่บนตัวโคลอกคราบเป็นเห็บวัยรุ่นได้ครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 

วิธีการสกัดยาฆ่าเห็บโคจากเมล็ดน้อยหน่า สามารถทำได้โดยการต้มเมล็ดน้อยหน่าที่บดเป็นผงก็ได้ แต่สารสกัดที่ได้จะมีฤทธิ์ฆ่าเห็บอ่อนลงเหลือครึ่งเดียว วิธีการต้มนั้นให้ใส่น้ำในปริมาตรที่มากกว่าผงเมล็ดน้อยหน่า 2 เท่า ต้มเป็นเวลานาน 15 นาที จึงกรองคั้นเก็บส่วนน้ำไว้ แล้วเติมน้ำลงไปล้างผงเมล็ดน้อยหน่าที่ผ่านการกรองแล้วอีก 1 ครั้งด้วยปริมาตรน้ำเท่าเดิม จากนั้นกรองเก็บส่วนน้ำมารวมกัน ใช้ฉีดพ่นฆ่าเห็บได้ทุกวัย หรือผสมสารสกัดที่ต้มได้กับน้ำ 150 เท่าสามารถใช้ฆ่าเห็บตัวอ่อนได้ครับ  การเก็บรักษาสารสกัดที่ได้จากเมล็ดน้อยหน่านั้น ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เนื่องจากมันสลายตัวไว เมื่อแช่เย็นแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 ปี และยังมีฤทธิ์ฆ่าเห็บได้เหมือนเดิม แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรเก็บแต่เมล็ดน้อยหน่าในสภาพที่เป็นเมล็ดไว้ในที่แห้งจะดีที่สุดครับ

และที่กล่าวมานี้ก็คือวิธีการผลิตยาฆ่าเห็บโคที่ฉีดพ่นจากภายนอกครับ เป็นวิธีการที่ง่าย สามารถหาวัตถุดิบได้ตามท้องถิ่น และมีประสิทธิภาพดีอีกด้วย แต่ถ้าหากเกษตรกรท่านใดไม่มีเวลามากพอ หรือไม่สะดวกในการที่จะผลิตยาฆ่าเห็บโคด้วยตนเอง วันนี้กระผมมีวิธีการฆ่าเห็บอีกวิธีหนึ่งมาฝากกันครับ

คุณผู้ฟังครับ ปัจจุบันความปลอดภัยของอาหาร เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย การทำให้อาหารที่ผลิตจากสัตว์ หรือ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปลอดจากเชื้อโรค และปลอกสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่อผู้บริโภค เป็นส่วนสำคัญของการผลิตอาหารแบบอินทรีย์ที่มีประโยชน์และมีคุณค่าที่ทุกคนอยากจะใช้บริโภคครับ จึงได้มีนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกท่านหนึ่งครับ ท่านผู้นั้นก็คือ รศ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ จากภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ท่านเป็นผู้คิดค้นวัคซีนต่อต้านเห็บโค ซึ่งมีซื่อเรียกว่า KU-VAC1 วัคซีนต่อต้านเห็บโคนี้เป็นทางเลือกใหม่ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตไทย เนื่องจากการใช้วัคซีนจะสามารถป้องกันสัตว์จากเห็บได้นานกว่าสารเคมี วัคซีนนี้มีข้อดีคือ จะไม่มีอันตรายต่อตัวสัตว์ ไม่มีสารตกค้างในตัวสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตลอดจนไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ การใช้วัคซีนต่อต้านเห็บโคจะไม่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย และจะมีผลต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว เนื่องจากวัคซีนจะช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในสัตว์ ที่มนุษย์ใช้เป็นแหล่งอาหารและลดการตกค้างของสารเคมีในสภาพแวดล้อมที่จะมีผลดีต่อคนไทยในอนาคต อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่ลดลงก็จะกลับมาเป็นผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น ให้กับเกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ

ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนต่อต้านเห็บโคในประเทศไทย ได้พัฒนาจากองค์ความรู้ภายในประเทศโดยการทดสอบวัคซีนเบื้องต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยเตรียมวัคซีนจากเนื้อเยื่อเห็บโคภายในประเทศไทย ทำการสกัดแยกโปรตีนจากทางเดินอาหารและต่อมน้ำลายของเห็บ นำมาหาพันธุกรรมเพื่อผลิตโปรตีนที่จะใช้เป็นวัคซีนจำนวนมาก และในปี 2551 ได้ทดสอบวัคซีนในห้องปฏิบัติการภาคสนาม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนในการควบคุมเห็บโค และพัฒนาในเชิงพาณิชย์

การทำงานของวัคซีนต่อต้านเห็บโคนี้คือ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะเข้าไปทำลายผนังเซลล์ทางเดินอาหารของเห็บ ทำให้เห็บไม่สามารถเปลี่ยนเลือดไปเป็นไข่ ซึ่งช่วยลดอัตราการขยายพันธุ์ของเห็บตามธรรมชาติ ขัดขวางการทำงานของต่อมน้ำลายที่มีส่วนช่วยในการเกาะดูดเลือดของเห็บ ทำให้เห็บดูดกินเลือดได้ลดลง และภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะเข้าไปขัดขวางเชื้อที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของเห็บ ไม่ให้ถ่ายทอดไปยังสัตว์ ทำให้ลดการเกิดโรคจากเห็บ และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เจ้าของสัตว์หรือเกษตรกรไทยครับ

วัคซีนต่อต้านเห็บโค หรือ KU-VAC1 นี้มีศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์มากมายครับ เช่น สามารถใช้ทดแทนการใช้สารเคมีฆ่าเห็บที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ลดการนำเข้าสารเคมีที่ถูกกำหนดราคาโดยบริษัทต่างประเทศ  แม้ว่าการพัฒนาวัคซีน KU-VAC1  จะมีต้นทุนสูง แต่มีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ เนื่องจากมีความยั่งยืนในการใช้มากกว่าสารเคมี เพราะอายุการใช้งานของวัคซีน KU-VAC1 จะอยู่ได้นานกว่าการใช้สารเคมีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุก 1-2 ปี เนื่องจากเห็บเกิดการดื้อต่อวัคซีนได้ยากกว่าการใช้สารเคมี หรือไม่มีโอกาสเกิดได้เลย นับว่าเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากกว่า 10 ปี ย่อมเป็นเหตุผลที่ดีในการลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้วัคซีน KU-VAC1 มีศักยภาพพอในการส่งไปขายต่างประเทศโดยมีความเป็นไปได้สูง ของการเกิดภูมิคุ้มกันที่มีต่อเห็บโคชนิดใกล้เคียงกันในภูมิภาคนี้ครับ

คุณผู้ฟังครับ หากท่านใดสนใจวิธีการผลิตยาฆ่าเห็บโคจากพืช หรือสนใจวัคซีนต่อต้านเห็บโค ท่านสามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ณรงค์ จึงสมานญาติ และรศ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-579-0524 หรือคุณผู้ฟังจะติดต่อมาทางรายการก็ได้ครับ โดยเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง   “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 ครับ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ

 

……………………………………………………………………………………………………………