การเพิ่มศักยภาพกล้วยไม้ประดับไทย โดย ผศ.พัชรียา บุญกอแก้ว

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=r04NUWbBVbg[/youtube]

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 8  เดือน มีนาคม  พ.ศ. 2557

เรื่อง การเพิ่มศักยภาพกล้วยไม้ประดับไทย

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………………………

 

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังวันนี้กระผมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากครับ เป็นผลงานวิจัยการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของกล้วยไม้ประดับของไทยครับ ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.พัชรียา บุญกอแก้ว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร บางเขน ก่อนอื่นเรามาฟังความสำคัญของกล้วยไม้กันก่อนนะครับ ว่ามีความสำคัญต่อการส่งออกอย่างไร และวัตถุประสงค์ในการเพิ่มศักยภาพมีอะไรบ้าง

คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า กล้วยไม้นับว่าเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ในการส่งออกไปสู่ตลาดโลกเลยทีเดียวครับ โดยที่กล้วยไม้ส่วนใหญ่ที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศได้แก่กล้วยไม้ตัดดอกในสกุลหวาย  แต่ในปัจจุบันนี้ความต้องการไม้ดอกกระถางมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกกล้วยไม้กระถางในหลายปีที่ผ่านมานี้ ก็จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในวงการไม้ดอกไม้ประดับต้องการสินค้าใหม่ที่มีความหลากหลายอยู่ตลอดเวลาครับ ดังนั้นการผลิตกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่สวยงามและมีคุณภาพจึงนับเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของกล้วยไม้ไทย เนื่องจากกล้วยไม้นับเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของโลก ซึ่งนับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกกล้วยไม้รายใหญ่ของโลกประเทศหนึ่ง และยังมีปริมาณการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอก และต้นกล้วยไม้ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียวครับ หากนักวิจัยสามารถพัฒนากล้วยไม้พันธุ์ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอจะสามารถขยายตลาดและเพิ่มปริมาณการส่งออกได้มากขึ้นครับ

คุณผู้ฟังครับ ในปัจจุบันผู้ผลิตและผู้ค้าไม้ดอกไม้ประดับนั้นพยายามหาพืชชนิดใหม่ๆ โดยเฉพาะ พืชพื้นเมืองต่างๆ ที่ไม่เคยได้นำมาจำหน่ายหรือใช้ประโยชน์ การพัฒนาพันธุ์พืชพื้นเมืองจึงเป็นการเพิ่มศักยภาพของการตลาดและการส่งออกกล้วยไม้พื้นเมืองของไทย การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้พืชเมืองให้เป็นที่ต้องการของตลาดต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ด้านการปรับปรุงพันธุ์ และในด้านการตลาดพอสมควรครับ ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของกล้วยไม้ดินพื้นเมืองในสกุลต่างๆ หลายชนิด ที่ดอกมีลักษณะสวยงาม และนิยมปลูกกันมาก ได้แก่ กล้วยไม้ดินในสกุล Habenaria สกุล Pecteilis สกุล Calanthe และสกุล Spathoglosttis คุณผู้ฟังครับ มีหลายชนิดที่มีลักษณะช่อดอก และใบที่สวยงามสามารถนำมาพัฒนาทำเป็นไม้ดอกกระถางได้ ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาเป็นลักษณะการค้า การส่งออกไปยังต่างประเทศยังมีน้อยมาก และมีเพียงบางชนิดเท่านั้นครับ เช่น นางอั้วสาคริก (Pecteilis sagarikii) และพวกเอื้องดินใบหมาก (Spathoglosttis) การพัฒนาพันธุ์พืชพื้นเมืองจึงเป็นการเพิ่มศักยภาพของการตลาด และการส่งออกกล้วยไม้พื้นเมืองของไทย การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้พืชเมืองให้เป็นที่ต้องการของตลาด ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ด้านการปรับปรุงพันธุ์และด้านการตลาด ปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์ให้ความสนใจพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้สกุล Spathoglottis หรือพวกเอื้องดินใบหมาก เพื่อใช้เป็นไม้กระถาง โดยมีแนวความคิดของการพัฒนา คือ สามารถประดับได้ทุกสถานที่ ทรงต้นกะทัดรัด ออกดอกง่ายและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี มีสีสันสดใสและดอกบานทนครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

ส่วนการวิจัยในครั้งนี้จึงใช้กล้วยไม้ลูกผสม 2 สายพันธุ์ คือ ลูกผสม ’จุฬาลักษณ์’ ซึ่งมีลักษณะทรงต้นกะทัดรัด ช่อดอกพรูไม่ยาวจนเกินไป และลูกผสมสีเหลืองซึ่งมีการแตกกอที่ดี มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อเป็นไม้กระถางในอนาคตได้ แต่ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ดินยังมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในส่วนของความสามารถในการผสมตัวเอง และผสมข้ามสายพันธุ์ การศึกษาทางด้านเซลล์วิทยา ในสภาพธรรมชาติกล้วยไม้ดินมีการเจริญของลำต้นอยู่เหนือผิวดิน และมีการเจริญของรากอยู่ภายในดินทำให้การศึกษาทางเซลล์วิทยาทำได้ยาก เนื่องจากรากของกล้วยไม้ที่เจริญอยู่ในดินนั้น มีลักษณะแข็งมากและเป็นสีน้ำตาล ดังนั้น การศึกษาชนิดของวัสดุปลูกที่เหมาะสมในการเกิดรากที่สมบูรณ์ สะอาด  เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์ทางเซลล์วิทยาและเทคนิคต่าง ๆ ที่เหมาะในการเตรียมเนื้อเยื่อปลายรากเพื่อการศึกษาจำนวนโครโมโซมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งครับ

 

มาฟังวิธีของการวิจัยในครั้งนี้กันนะครับ

การทดลองที่ 1 การศึกษาทางเซลล์วิทยา

อันดับแรกเลยนะครับ ทำการเลือกต้นพืชที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรค และมีการเจริญเติบโตเต็มที่ ทำการแยกกอจากต้นเดิมลงกระถางพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว เพื่อเปรียบเทียบวัสดุปลูก 5 ชนิด ได้แก่ กาบมะพร้าวสับ กาบมะพร้าวสับและทราย (1:1) ทราย ขุยมะพร้าว และ พีทมอส ปลูกเลี้ยงภายในโรงเรือนพลาสติกเป็นเวลา 2 สัปดาห์บันทึกจำนวนราก และความยาวของราก และลักษณะความสมบูรณ์ของรากที่เจริญในเครื่องปลูกแต่ละชนิดจากนั้นคัดเลือกรากที่สะอาด และสมบูรณ์ตัดเฉพาะส่วนของปลายรากที่กำลังเจริญเติบโต สังเกตจากรากจะมีสีขาว และปลายรากมีสีเหลือง ขั้นแรกศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บตัวอย่างปลายรากโดยตัวอย่างที่เวลา 9.00-14.00 น. ตัดส่วนปลายรากให้มีความยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ล้างด้วยน้ำสะอาด ขั้นตอนที่สองเปรียบเทียบผลการใช้และไม่ใช้สารละลาย 8-hydroxyquinoline ความเข้มข้น 0.002 M เป็นเวลา 3 และ 6 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส หลังจากแช่ในสารละลาย 8-hydroxyquinoline ล้างรากด้วยน้ำกลั่น 2-3 ครั้ง แช่ปลายรากในน้ำยาคงสภาพเซลล์ที่ประกอบด้วย เอทานอล 95 เปอร์เซ็นต์และกรดอะซิติกเข้มข้น อัตราส่วน 3:1 นาน 8 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ล้างปลายรากให้สะอาดแล้วนำไปย่อยด้วยสารละลาย HCl ความเข้มข้น 1 N นาน 8 นาที ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ล้างด้วยน้ำกลั่น 2-3 ครั้ง ตัดเฉพาะส่วนของปลายรากที่มีสีขาวขุ่น วางบนแผ่นสไลด์ย้อมด้วยสีย้อม นำแผ่นสไลด์ไปศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เลือกเซลล์ที่มีการแบ่งนิวเคลียสในระยะเมตาเฟสนับจำนวนโครโมโซมที่เห็นชัดเจนและกระจายตัวเต็มที่ แล้วบันทึกภาพ หลังจากที่ทราบวิธีการวิจัยกันบ้างแล้วช่วงหน้ามาฟังผลของการวิจัยกันนะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ จากการศึกษาชนิดของวัสดุปลูกที่เหมาะสมในการเกิดรากของลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ พบว่า ขุยมะพร้าวและพีทมอส ให้จำนวนรากเฉลี่ยระหว่างประมาณ 6-8 ราก ซึ่งเป็นจำนวนรากเฉลี่ยที่มากกว่าการปลูกในวัสดุอื่นๆครับ

ส่วนลูกผสมสีเหลืองเมื่อปลูกในทรายให้ผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติกับทุกวัสดุปลูกชนิดอื่น คือ ให้จำนวนรากเฉลี่ยสูงสุด 5 ราก และมีความยาวของรากมากที่สุดเมื่อปลูกในพีทมอสและกาบมะพร้าวสับ+ทราย (1:1)

และคุณภาพของรากที่ได้จากการใช้กาบมะพร้าวสับ กาบมะพร้าวสับ+ทราย (1:1) ขุยมะพร้าว และพีทมอสมีลักษณะคล้ายกันคือ มีสีขาว ผิวเรียบ และมีขนาดสม่ำเสมอ ส่วนรากที่ได้จากวัสดุปลูกที่มีทรายเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว พบว่า รากค่อนข้างแข็งและผิวมีลักษณะขรุขระครับ

จากการเก็บตัวอย่างปลายรากของพืชทดลองในช่วงเวลา 9.00, 10.00, 11.00, 12.00, 13.00 และ 14.00 น. แล้วนำไปผ่านขั้นตอนการเตรียมเนื้อเยื่อ เพื่อศึกษาจำนวนโครโมโซม พบว่า การเก็บตัวอย่างปลายรากของกล้วยไม้ดินใบหมากลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ และลูกผสมสีเหลือง ที่เวลา 9.00 ถึง 10.00 น. พบเซลล์อยู่ในระยะอินเตอร์เฟสและโปรเฟสมากที่สุด คือ เซลล์และนิวเคลียสที่มีขนาดใหญ่ โครโมโซมเกาะรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เวลา 11.00 น. ได้จำนวนเซลล์ที่อยู่ในระยะเมตาเฟสมากที่สุด สามารถตรวจนับจำนวนโครโมโซมได้ง่าย และที่เวลา 12.00 ถึง 14.00 น.  จะพบเซลล์ที่อยู่ในระยะแอนาเฟสและระยะทีโลเฟสเป็นส่วนใหญ่ เมื่อใช้สารละลาย 8-hydroxyquinoline ในการหยุดวงชีพเซลล์เป็นเวลา 3 และ 6 ชั่วโมง พบว่า โครโมโซมหดสั้น และกระจายตัวออกจากกัน ทำให้เห็นรูปร่างของโครโมโซมชัดเจนครับ

ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกันเมื่อใช้สารละลายหยุดวงชีพเซลล์เป็นเวลา 3 และ 6 ชั่วโมง สำหรับเซลล์ที่ไม่ผ่านการหยุดวงชีพเซลล์แสดงโครโมโซมที่ค่อนข้างยาว และไม่กระจายตัว จากการศึกษาจำนวนโครโมโซมของพืชทดลองโดยใช้เทคนิคการเตรียมเนื้อเยื่อดังที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า กล้วยไม้ดินลูกผสม ’จุฬาลักษณ์’ และลูกผสมสีเหลือง มีจำนวนโครโมโซมเท่ากันครับ

คุณผู้ฟังครับ ส่วนวัสดุปลูกที่เหมาะต่อการเกิดรากควรจะสามารถเก็บกักความชื้นได้ดี ให้รากที่สมบูรณ์และสะอาด เช่น ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าว และพีทมอส แต่ไม่ควรใช้วัสดุปลูกที่มีทรายเป็นสวนประกอบหลักเพราะหากล้างไม่สะอาดจะทำให้กระจกปิดสไลด์แตกขณะทำ Squashing อีกทั้งยังทำให้รากแข็ง ไม่สะดวกในการใช้เอนไซม์ย่อยผนังเซลล์ด้วย ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการศึกษาการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสของกล้วยไม้ดินใบหมากลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ และลูกผสมสีเหลือง คือ  เวลา11.00 น. สอดคล้องกับรายงานการศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บตัวอย่างปลายรากในกล้วยไม้แผ่นดินเย็นพันธุ์ HKRCO1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปลายรากมีการแบ่งเซลล์เป็นจำนวนมาก การใช้สารละลาย 8-hydroxyquinoline ในการหยุดวงชีพเซลล์ช่วยให้การวิเคราะห์ผลมีความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเกิดเส้นใยสปินเดิล ทำให้โครโมโซมหดสั้นและกระจายตัว จากการทดลอง พบว่า ระยะเวลาในการหยุดวงชีพเซลล์ 3 และ 6 ชั่วโมง ให้ผลไม่แตกต่างกัน ดังนั้นในการปฏิบัติงานควรใช้เวลาในการหยุดวงชีพเซลล์เพียง 3 ชั่วโมงเพื่อเป็นการร่นระยะเวลาในการเตรียมเนื้อเยื่อเพื่อศึกษาจำนวนโครโมโซมต่อไปครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 

 

 

มาต่อกันกับการทดลองที่ 2 กันนะครับ คือ การศึกษาความสามารถในการผสมตัวเองและผสมข้ามสายพันธุ์ เป็นการศึกษาความมีชีวิตของกลุ่มเรณูของกล้วยไม้ดินใบหมากลูกผสม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ลูกผสม ’จุฬาลักษณ์’ และลูกผสมดอกสีเหลืองโดยการย้อมสี จากนั้นทำการผสมตัวเองและผสมข้ามแบบสลับพ่อ-แม่ระหว่างสายพันธุ์ ผสมเกสรกล้วยไม้ดินใบหมากในช่วงเวลา 7.00-9.00 น. และ 16.00-17.00 น. เลือกดอกที่ยังไม่ได้รับการผสมเกสร ดอกมีสีสันสดใสและสมบูรณ์  ต่อจากนั้นเลือกดอกที่อยู่บริเวณโคนช่อเพื่อให้อาหารไปเลี้ยงฝักอย่างเพียงพอ และป้องกันการหักของก้านช่อดอก เลือกเกสรเพศผู้มีสีเหลืองสดใส จากนั้นใช้ไม้จิ้มฟันที่สะอาดแตะเกสรเพศผู้ออกมาแล้วนำไปใส่ยอดเกสรเพศเมีย ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งที่มีน้ำเมือกเหนียวคล้ายแป้งเปียก กดเบา ๆ เพื่อให้เกสรเพศผู้ติดสนิท ใช้ไหมพรมผูกที่ก้านดอกที่ทำการผสมเกสรไว้ จากนั้นใช้ถุงกระดาษคลุมดอกไว้ เพื่อป้องกันเกสรที่ไม่ต้องการ หลังการผสมเกสรดูแลรดน้ำต้นกล้วยไม้เป็นประจำทุกเช้า หลังจากติดฝักประมาณ 3 สัปดาห์ บันทึกข้อมูลอัตราการผสมติดและทำการเก็บฝัก เพื่อศึกษาลักษณะทางกายวิภาคต่อไปครับ

คุณผู้ฟังครับ การศึกษาความสามารถในการผสมตัวเองและผสมข้ามสายพันธุ์ ก่อนทำการผสมเกสรได้ศึกษาความมีชีวิตของกลุ่มเรณูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ด้วยการย้อมสี พบว่า ลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ และลูกผสมสีเหลือง มีค่าเฉลี่ยความมีชีวิตของกลุ่มเรณูประมาณ 82±5.03 และ 91±2.82 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การผสมตัวเองของลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ มีอัตราการผสมติดเป็น 54.00 เปอร์เซ็นต์ และการผสมตัวเองของลูกผสมสีเหลืองมีอัตราการผสมติด 71.43 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการผสมข้ามเมื่อให้ลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ เป็นต้นแม่พันธุ์ พบว่า มีอัตราการผสมติด 69.23 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อให้ลูกผสมสีเหลืองเป็นต้นแม่พันธุ์ มีอัตราการผสมติดเท่ากับ 50.00 เปอร์เซ็นต์ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ หลังจากผสมพันธุ์กล้วยไม้ดินลูกผสมแล้ว ต้องรอฝักที่ติดให้เจริญจนถึงอายุที่เหมาะสมจึงจะนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์เพื่อให้เมล็ดงอก และพัฒนาจนเป็นต้นกล้า ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ในรายงานความก้าวหน้างานวิจัยในครั้งนี้จึงยังไม่สามารถรายงานผลเกี่ยวกับลักษณะของลูกผสมได้ครับ ไว้เดี๋ยวกระผมจะมาถ่ายทอดความรู้ต่อไปครับ

คุณผู้ฟังครับครับ จากการทดลองดังกล่าว เราเห็นผลของการเปรียบเทียบผลของวัสดุปลูกทั้ง 5 ชนิดที่เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวนและคุณภาพรากของกล้วยไม้ดินใบหมากลูกผสมทั้ง 2 ชนิด คือ ‘จุฬาลักษณ์’ และลูกผสมสีเหลือง การการนับจำนวนโครโมโซม และการผสมตัวเองของลูกผสม ‘จุฬาลักษณ์’ มีอัตราการผสมติดกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของกล้วยไม้ประดับของไทย เพื่อศึกษาพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองโดยวิธีการผสมพันธุ์ การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และศึกษาปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการผลิต การเจริญเติบโตและพัฒนาของกล้วยไม้พันธุ์พื้นบ้านและลูกผสมในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อนำความรู้เรื่องของปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการผลิตกล้วยไม้มาใช้ในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญเพื่อศึกษาภาชนะและวัสดุปลูกที่เหมาะในการทำเป็นไม้ดอกกระถาง โดยศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ในสภาพไม้ดอกกระถาง เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกต่อไปครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับ กระผมหวังว่าสาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ คุณผู้ฟังสามารถติชมรายการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยการเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903” หรือ โทรสอบถามได้ที่                    0-2561-1474 และสำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ขอลาก่อน สวัสดีครับ