การพัฒนาการปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทย

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=qychWFp_VWM[/youtube]

บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่22  เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรื่อง  การพัฒนาการปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทย

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีกระผม…………………………………………เป็นผู้ดำเนินรายการ วันนี้กระผมขอเสนอเรื่อง “การพัฒนาการปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทย”

คุณผู้ฟังครับสตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก ทำให้สตรอเบอร์รี่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างกว้างขว้าง และจัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งด้วยสาเหตุดังกล่าวเลยทำให้พบว่ามีการปลูกสตรอเบอร์รี่อย่างกว้างขว้างมากมายทั่วโลกเลยครับ สามารถพบได้แทบทุกประเทศตั้งแต่แถบขั้วโลกลงมาถึงพื้นที่ในเขตร้อน ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิอากาศและชนิดดินที่ใช้ปลูก          ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยบ้านเรา สตรอเบอร์รี่ก็ยังเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่มาก เพราะเนื่องจากมีรสชาติอร่อยเปรี้ยวหวาน เนื้อแน่น และมีกลิ่นหอมสีแดงสดน่ารับประทาน คุณผู้ฟังครับในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้พบว่าผลผลิตที่ใช้สำหรับบริโภคเป็นผลสด และใช้ในเชิงอุตสาหกรรมแปรรูปได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีสาเหตุมาจากการผสมพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตยาวนานขึ้น การนำระบบปลูกแบบดูแลอย่างใกล้ชิดมาใช้ ตลอดจนการเลือกพื้นที่ปลูก ที่มีความเหมาะสมมากกว่าแต่ก่อนครับ

ในปัจจุบัน ได้มีการทดลองวิจัยที่จะหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะทำให้การปลูกสตรอเบอร์รี่นั้นง่ายขึ้น โดยเน้นการให้ผลผลิตสูงและสามารถทำรายได้ตอบแทนเป็นที่พอใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกในประเทศไทย แม้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกสตรอเบอร์รี่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ เช่น บางอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และในพื้นที่บางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดเลยและจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ยังมีแนวโน้มที่สามารถปลูกได้ผลพอสมควร ในพื้นที่สูงของภาคกลาง เช่น แถบบนภูเขาของจังหวัดกาญจนบุรี และเนื่องมาจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในขณะนี้ สตรอเบอร์รี่จึงถูกพิจารณาให้จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งสามารถช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกนับเป็นพันครอบครัวให้ดีขึ้นทั้งพื้นที่ราบและบนที่สูง นอกจากนี้ยังพบว่ามีศักยภาพสูงมากสำหรับการผลิตสตรอเบอร์รี่เพื่อจุดประสงค์ในการขยายช่วงของการเก็บเกี่ยวหรือผลิตให้ผลออกนอกฤดูกาลบนพื้นที่สูงของประเทศไทยซึ่งมีสภาพอากาศหนาวเย็นพอเหมาะตลอดทั้งปีและมีโอกาสที่ดีในการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในอนาคตอีกด้วยครับคุณผู้ฟังครับ เดี๋ยวในช่วงหน้าเรากลับมาทำความรู้จักกับสตรอเบอร์รี่พันธุ์ต่างๆที่ชาวเกษตรกรนิยมปลูกกันมากแต่จะเป็นสตรอเบอร์รี่พันธุ์อะไรนั้นติดตามในช่วงหน้า ตอนนี้พักสักครู่นะครับ…

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

กลับมาฟังกันต่อนะครับ การปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทยได้มีการปลูกสตรอเบอร์รี่มานานหลายปีแล้วครับโดยเริ่มแรกคือมีชาวอังกฤษที่มาทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้นำต้นสตรอเบอร์รี่เข้ามาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2477 ซึ่งต่อมาสตรอเบอร์รี่พันธุ์นี้ถูกเรียกว่า พันธุ์พื้นเมือง เพราะไม่ทราบชื่อพันธุ์ที่แน่นอน ผลของพันธุ์นี้จะมีลักษณะนิ่ม มีขนาดเล็ก สีผลออกเป็นสีปูนแห้ง และให้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ ต่อมาหลังจากที่ได้มีการแนะนำวิธีการปลูกสตรอเบอร์รี่แล้ว ก็มีการแพร่ขยายการปลูกในฐานะเป็นผลไม้ชนิดใหม่ภายในส่วนของโรงเรียน และสถานีทดลองเกษตรของส่วนราชการต่าง ๆ

แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการปลูกเพื่อการค้าอย่างจริงจังก่อนถึงปี พ.ศ. 2522 มีเกษตรกรบางรายพยายามปลูกเป็นการค้าในพื้นที่ใหญ่ ๆ แต่ก็ไม่ได้รับความ สำเร็จเท่าที่ควร ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า มูลนิธิโครงการหลวง โดยมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานมูลนิธิฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารของพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ หยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา โดยหาพืชอื่นทดแทนให้ปลูกและช่วยยกระดับการครองชีพ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ดังนั้นโครงการวิจัยสตรอเบอร์รี่จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เริ่มดำเนินการในระหว่างปี พ.ศ. 2517- 2522 โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและได้รับทุนวิจัยจากทางฝ่ายงานวิจัยกระทรวงเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างการวิจัยนี้ได้มีการนำสตรอเบอร์รี่พันธุ์ต่าง ๆ เข้ามามากมาย เพื่อทดลองปลูกตามสถานีทดลองเกษตรที่มีระดับความสูงที่ต่างกัน รวมทั้งศึกษาเรื่องของโรคแมลงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และตลอดจนทางด้านของการตลาด ผลของความสำเร็จและข้อมูลที่ได้มาจากโครงการวิจัยสตรอเบอร์รี่นี้ได้นำไปใช้ในงานส่งเสริมให้แก่ชาวไทยภูเขา รวมทั้งเกษตรกรพื้นราบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสตรอเบอร์รี่และต้นไหลด้วย ปัจจุบันสตรอเบอร์รี่จึงถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ค่อนข้างดี และให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วแก่เกษตรกรผู้ปลูกในทั้งสองจังหวัดนี้

คุณผู้ฟังครับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึง พ.ศ. 2541 ได้มีการนำสตรอเบอร์รี่พันธุ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูกมากมาย จากปี พ.ศ. 2515 ปรากฏว่าพันธุ์ Cambridge Favorite, Tioga และ Sequoia โดยรู้จักกันในนามพันธุ์พระราชทานเบอร์ 13, 16 และ 20ได้ถูกพิจารณาว่าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ต่อมาพบว่า พันธุ์ Tioga สามารถปรับตัวได้ดีทั้งพื้นที่ปลูกบนภูเขาสูงระดับ 1,200 เมตรและพื้นที่ราบของทั้งสองจังหวัด เกษตรกรขณะนั้นเกือบทั้งหมดใช้พันธุ์นี้ปลูกเป็นการค้ากันทั่วไปโดยไม่มีพันธุ์อื่นมาแทนที่ จนกระทั่งมีการตั้งพันธุ์ Toyonokaเป็นพันธุ์พระราชทาน 70 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2540 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา และพันธุ์ B5 เป็นพันธุ์พระราชทาน 50ในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ปัจจุบันสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 16, 20, 50 และ 70 จึงนับได้ว่าเป็นพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่มีการปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่ของประเทศเลยทีเดียวครับ…

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ.. และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงขณะนี้ก็ได้มีหน่วยงานหนึ่งที่คอยดูแลและศึกษาหาวิธีการเพื่อที่จะหาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการค้า ในการปลูกสตรอเบอร์รี่ให้มากขึ้น และหน่วยงานนั่นก็คือ ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตที่สูง และสถานีวิจัยดอยปุยของสำนักงานโครงการจัดตั้งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กำลังดำเนินการวิจัยศึกษาหาข้อมูลของสตรอเบอร์รี่เพิ่มเติมมาโดยตลอด และได้คิดค้นหาเทคนิควิธีการปลูกและการดูแลแบบสมัยใหม่ให้เหมือนในต่างประเทศที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมการค้า โดยจะนำผลงานที่ได้เหล่านี้ทำการส่งเสริมเผยแพร่หรือจัดฝึกอบรมให้เกษตรกรผู้ปลูกสตอเบอร์รี่ในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป

สำหรับพื้นที่การปลูกสตรอเบอร์รี่ของประเทศไทยนั้นได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เนื่องมาจากการขยายตัวของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยเฉพาะในด้านการนำมาแปรรูปพื้นที่การผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เพราะมีอากาศเย็นที่สตรอเบอร์รี่สามารถให้ผลผลิตได้ในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมรวมพื้นที่การผลิตทั้งประเทศประมาณ 2,600-3,000 ไร่ต่อปี

นอกจากนี้สตรอเบอร์รี่ยังถูกปลูกกันโดยทั่วไปบนที่สูงในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ทางตะวันตก เช่น เทือกเขาในอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญต่อไปในอนาคตสำหรับการปลูกสตรอเบอร์รี่ของประเทศไทย

สตรอเบอร์รี่จัดเป็นพืชที่มีความสำคัญในระดับท้องถิ่นชนิดหนึ่งของเกษตรกรทางภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายผลผลิตที่ได้เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปจำหน่ายในตลาดเพื่อการบริโภคสดและส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแปรรูปและจำหน่ายต่อนอกจากการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกโดยการจำหน่ายผลผลิตและทำรายได้ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปแล้วยังเป็นพืชที่สร้างงานและอาชีพให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ทำการผลิตต้นไหลอีกด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปสตรอเบอร์รี่ของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารมีทั้งการใช้ภายในประเทศและส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักแต่หลังจากนั้นปริมาณการส่งออกได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันทั้งนี้เป็นผลมาจากการมีประเทศคู่แข่งขันทางด้านการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ในด้านของการตลาดและเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีการส่งออกผลสตรอเบอร์รี่ในเชิงอุตสาหกรรมไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และสามารถทำรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี โดยประเทศหลักที่ส่งไปจำหน่ายได้แก่ ญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีปริมาณการส่งออกในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้มีการลดลงเนื่องมาจากมีประเทศคู่แข่งคือ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี  ที่สามารถส่งออกสตรอเบอร์รี่ได้เหมือนกัน และการที่ไม่ได้มีพัฒนาทางด้านการปลูกแบบสมัยใหม่เพื่อให้ผลผลิตมากขึ้น หรือไม่มีการเปลี่ยนเป็นพันธุ์ใหม่ที่ตลาดต้องการรวมทั้งภายในประเทศเองก็มีการใช้บริโภคทั้งผลสดและแปรรูปมากขึ้นก็นับว่าเป็นหลาย ๆ สาเหตุประกอบกัน

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

สำหรับการปลูกสตรอเบอร์รี่นั้น ด้วยระบบการปลูกสตรอเบอร์รี่ในปัจจุบันของประเทศไทย ต้นไหลจะถูกบังคับให้เกิดการพัฒนาของตาดอกและเพื่อความแข็งแรงก่อนปลูก โดยการปล่อยให้ได้รับอุณหภูมิเย็นในเวลากลางคืนบนที่สูง ซึ่งจะทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าต้นไหลที่ผลิตบนพื้นราบ การปลูกบนพื้นราบ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ตอนปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ต้นไหลทั้งหมดที่ออกมาจะถูกปลูกลงในถุงพลาสติกเล็กที่บรรจุดินแล้วขนาด 3 x 5 ซม. และปล่อยให้เจริญเติบโตในแปลงจนกระทั่งเดือนมิถุนายน จึงขนขึ้นไปปลูกบนที่สูงประมาณ1,200-1,400 เมตร เพื่อผลิตต้นไหลต่อไปซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูฝน หลังจากที่ปล่อยให้ต้นไหลที่เจริญอยู่ในถุงพลาสติก และได้รับความหนาวเย็นบนที่สูงจนเพียงพอแล้วจะนำลงไปปลูกในแปลงที่พื้นราบไม่เกินต้นเดือนตุลาคม เพราะถ้าหากปลูกช้าเกินไปจะทำให้ผลผลิตออกช้าตามไปด้วย ต้นไหลที่ผลิตได้จากบนที่สูงนี้จะสามารถตั้งตัวและออกดอกได้เร็วกว่า ปกติเกษตรกรจะใช้ระยะปลูก 30 x 40 ซม. สำหรับการปลูกแบบสองแถว และระยะปลูก 25 x 30 ซม. สำหรับการปลูกแบบสี่แถว ใช้จำนวนต้นไหลทั้งหมดประมาณ 8,000-10,000 ต้นต่อไร่ การคลุมแปลงนั้นจะใช้ฟางข้าว ใบตองเหียง หรือใบตองตึงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือร่วมกันก็ได้คลุมระหว่างแถวในแปลงยกร่อง โดยจะทำการคลุมก่อนหรือหลังจากปลูกได้ 1-2 สัปดาห์แล้วแต่พื้นที่ ดอกแรกจะบานได้ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน และสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมในพื้นที่ปลูกของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดเชียงรายซึ่งมีสภาพอากาศที่เย็นกว่าจะเก็บเกี่ยวต่อไปได้อีกจนถึงเดือน เมษายน เมื่อถึงปลายฤดูการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น ต้นไหลที่เจริญออกมาก็จะถูกบังคับให้เจริญในถุงพลาสติกขนาดเล็กใส่ดินเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และเตรียมไว้ใช้เป็นต้นแม่สำหรับการขนขึ้นไปขยายต้นไหลบนที่สูงต่อไปเป็นวงจรเหมือนกันทุก ๆ ปี

การปลูกบนที่สูง เมื่ออากาศร้อนขึ้นในปลายช่วงของการเก็บเกี่ยวคือประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ต้นสตรอเบอร์รี่จะมีการสร้างไหลและต้นไหลออกมา ต้นไหลเหล่านี้จะถูกขุดขึ้นมาปลูกลงในถุงพลาสติกเหมือนในพื้นที่ราบราวกลางเดือนสิงหาคมและปล่อยให้เจริญอยู่ในแปลง จนกระทั่งปลายเดือนกันยายนเพื่อให้แน่ใจว่าต้นไหลเหล่านี้ได้รับความหนาวเย็นจนเพียงพอต่อการเกิดตาดอกสำหรับเป็นต้นที่ใช้ปลูกในคราวต่อไป ก่อนปลูกนั้นเกษตรกรบนที่สูงซึ่งส่วนมากจะเป็นชาวไทยภูเขาจะทำการยกแปลงปลูกและคลุมแปลงด้วยใบตองเหียงหรือใบตองตึง ต่อจากนั้นจึงเจาะรูโดยใช้กระป๋องนมที่ทำการเปิดปากออกแล้วกดลงไปบนวัสดุคลุมแปลงให้เป็นรูช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลผลิตสูงที่สุดคือก่อนปลายเดือนกันยายนเป็นอย่างช้าปกติจะปลูกเป็นแบบแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ บางพื้นที่จะทำการปลูกเป็นแบบขั้นบันไดจึงทำให้แถวแคบกว่าการปลูกในพื้นราบ ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ระหว่างต้นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยในระหว่างกลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม ต้นสตรอเบอร์รี่อาจจะชะงักการเจริญเติบโต เล็กน้อยและไม่ให้ผลผลิตเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นเกินไปในเวลากลางคืน คือต่ำกว่า 10 ํCเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับการปลูกสตรอเบอร์รี่ทั้งในพื้นที่ราบและบนที่สูงจะให้น้ำโดยการปล่อยให้ไหลผ่านไปตามร่องของแปลงปลูก แหล่งน้ำที่ได้อาจมาจากบ่อ สระ หรือคลองเล็ก ๆ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นน้ำที่สะอาดและอาจมีเชื้อโรคต่าง ๆ สะสมอยู่ในน้ำนั้น อย่างไรก็ดีมีบางพื้นที่มีการให้น้ำแบบสปิงเกอร์ โดยใช้น้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาซึ่งนับว่าเป็นระบบที่ดีกว่าที่กล่าวข้างต้น เพราะทำให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่จะไหลไปยังแปลงอื่นๆ โดยมีน้ำเป็นตัวพา ปกติเกษตรกรจะทำแปลงปลูกต้นสตรอเบอร์รี่ให้อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ทั้งนี้เพื่อให้ต้นได้รับแสงเต็มที่เป็นการเพิ่มการเจริญเติบโต และสีของผลก็จะพัฒนาได้ดีขึ้น สภาพพื้นที่ปลูกสตรอเบอร์รี่โดยทั่วไปจะอยู่ใกล้ตลาดหรือโรงงานแปรรูป หรือเป็นพื้นที่เดิมที่ใช้ต่อเนื่องกันมาทุก ๆ ปี โดยมีการปลูกพืชอื่นหมุนเวียนเป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปก่อนทำการปลูกสตรอเบอร์รี่นั้นเกษตรกรไม่ได้ทำการอบดินในแปลงปลูกด้วยสารเคมีเพื่อควบคุมโรคในดิน ไส้เดือนฝอย หรือวัชพืชแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการปลูกสตรอเบอร์รี่ที่ถูกต้อง ตลอดจนถึงการดูแลรักษา และการควบคุมศัตรูพืชด้วย

การเก็บเกี่ยวสตรอเบอร์รี่นั้น ผลผลิตรวมทั้งประเทศส่วนใหญ่ประมาณ 40% จะถูกขนส่งเข้าสู่ตลาดกรุงเทพมหานครเพื่อจำหน่ายเป็นผลสดอีก 40% จะส่งเข้าโรงงานเพื่อทำการแปรรูปสำหรับใช้ภายในและส่งออกต่างประเทศ และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% จะจำหน่ายเป็นผลสดและแปรรูปในอุตสาหกรรมแบบครัวเรือนให้กับนักท่องเที่ยวภายในท้องถิ่นนั้น ๆ ผลที่ใช้รับประทานสดจะถูกเก็บเกี่ยวและแบ่งเกรดโดยเกษตรกรเองในโรงเรือนชั่วคราวใกล้แปลงปลูก ผลจะถูกแบ่งเกรดตาม การพัฒนาของสีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 61-80 % สำหรับจำหน่ายในท้องถิ่น 41-60 % สำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและ 21-40 % สำหรับขนส่งเข้ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งจากพื้นที่ปลูกบนที่สูงสู่ตลาดพื้นราบ ทำให้เกษตรกรบางราย เก็บเกี่ยวขณะที่สีของผลพัฒนาเพียง 10-15 % ตามร้านขายผลไม้ในตลาดสดและร้านจำหน่ายข้างทางจะจำหน่ายโดยชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัมแล้วบรรจุลงในถุงพลาสติก สำหรับการจำหน่ายเป็นผลรับประทานสดของมูลนิธิโครงการหลวงนั้นผลจะถูกแบ่งเกรดตามน้ำหนักและคุณภาพแล้วบรรจุวางเรียงสองชั้นในถาดพลาสติกใส หุ้มด้วยพลาสติกบางเพื่อไม่ให้ผลเคลื่อนที่ในขณะเวลาขนส่งและใส่รวมกันชั้นเดียวในกล่องกระดาษแข็งสำหรับใส่ผลไม้ ปกติจะบรรจุถาดละ 250-260 กรัม เพื่อขายตามซุปเปอร์มาเกตหรือร้านค้าทั่วไป

คุณผู้ฟังครับผลสตรอเบอร์รี่ที่ใช้ในการแปรรูปจะถูกเก็บมาจากแปลงปลูกและขนส่งมาที่โรงงาน ซึ่งผลอาจจะจะถูกตัดขั้วออกก่อนนำมาส่งหรือตัดที่โรงงานและแบ่งคัดตามเกรดแล้วล้างด้วยน้ำที่สะอาด หลังจากนั้นผลบางส่วนจะถูกแช่แข็งเลยทันที และบางส่วนจะนำมาใส่ถุงพลาสติกที่บรรจุอยู่ในภาชนะเช่น ปี๊บแบบที่ใส่น้ำมันก๊าด และนำมาใส่น้ำตาลบนผลสตรอเบอร์รี่ตามสัดส่วนที่ตลาดเป็นผู้กำหนดมาเช่น น้ำหนักผล 14 กก. ต่อน้ำตาลทรายขาว 1.2 กก. เป็นต้น หลังจากนั้นจะทำการปิดฝาและรีบนำเข้าห้องเย็นแบบแช่แข็งเตรียมขนส่งไปยังต่างประเทศต่อไปครับ

คุณผู้ฟังครับ การพัฒนาการปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทยยังคงมีความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้เป็นการค้าอย่างจริงจังในประเทศไทยครับ เกษตรกรผู้ปลูกทั้งหมดกำลังรอความหวังจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐและเอกชนเพื่อช่วยพวกเขาในการแก้ปัญหาการรวมกันขององค์ประกอบ เช่น ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยทางเศรษฐกิจ ตัวเกษตรกรเองและการทำงานกันอย่างเต็มที่ของทีมงานวิจัยจากทางมหาวิทยาลัย ก็คาดได้ว่าจะส่งผลทำให้การปลูกสตรอเบอร์รี่ของประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการค้าที่สดใส และเกิดมีชื่อเสียงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

สัปดาห์หน้า กระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก  อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ได้ในวัน เวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….