การย้อมสีละมุดด้วยวิธีธรรมชาติ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=LvN3qQ5CJeI[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่1 เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2557

เรื่อง  การย้อมสีละมุดด้วยวิธีธรรมชาติ

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ เรารู้จักการย้อมสีกันมานานมากๆ แล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการย้อมสีผมที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมากในหนุ่มสาวสมัยใหม่ การย้อมสีเฟอร์นิเจอร์ การย้อมสีเส้นใยต่างๆ หรือแม้แต่การย้อมสีเสื้อผ้า ที่ในอดีตเรารู้จักกับป๋องแป๋งย้อมผ้า เหล่านี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามนุษย์เรารู้จักกับการย้อมสีมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เราจะเห็นได้จากหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ว่าเครื่องถ้วยชามหรือแม้แต่เสื้อผ้าของคนโบราณ ล้วนแล้วแต่มีสีสันที่สวยงามทั้งสิ้นครับ และแน่นอนครับ ว่าเรื่องที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก็คือเรื่องของการย้อมสี แต่เป็นการย้อมสีของผลไม้นะครับ

คุณผู้ฟังครับ การย้อมสีผลิตผลที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว มีปฏิบัติกันมากในอดีต แต่ลดน้อยลงตามลำดับครับ สำหรับในประเทศไทยนั้นการย้อมสีละมุดด้วยสีส้มภายหลังการขัดเอาขี้ไคลหรือเนื้อเยื่อออกยังคงมีปฏิบัติกัน เพื่อปิดบังร่อยรอยการขูดขีดบนผิว รวมทั้งรอยช้ำที่เกิดจากการขัดขี้ไคล ส่วนในต่างประเทศเมล็ดพิทาสชิโอซึ่งเป็นเมล็ดเคี้ยวมันชนิดหนึ่ง ในอดีตนิยมย้อมเปลือกด้วยสีแดงเพื่อปกปิดตำหนิบนเปลือก ต่อมางานวิจัยหลังการเก็บเกี่ยวทำให้เราทราบว่า ตำหนิเหล่านี้เกิดจากการล่าช้าในการเอาเปลือกชั้นนอกออกภายหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ยางและสารอื่นๆ ในเปลือกชั้นนอกแปดเปื้อนติดอยู่บนเปลือกชั้นใน จึงทำให้ในปัจจุบันการลอกเอาเปลือกชั้นนอกออกจึงกระทำทันทีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะได้เมล็ดพิทาสชิโอ ที่มีสีนวลเกลี้ยงเกลา และไม่จำเป็นต้องย้อมสีอีกต่อไป

สำหรับส้มในรัฐแคลิฟอเนียนั้น เมื่อผลสมบูรณ์เต็มที่ จะมีสีส้มสวยงาม เพราะมีสภาพภูมิอากาศที่กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก แต่ส้มในรัฐฟลอริดาซึ่งมีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศไทย แม้ว่าผลส้มจะสมบูรณ์เต็มที่ แต่ก็ยังคงมีสีเขียว เมื่อนำไปบ่มด้วยเอทิลีนก็จะทำให้สีเขียวหายไป แต่ผลจะไม่เป็นสีส้มเหมือนส้มของแคลิฟอเนีย แต่จะมีสีเหลือง ดังนั้นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับส้มของแคลิฟอเนีย จึงมีการย้อมสีผลส้มด้วยสีแดง ทำให้ส้มมีสีส้มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส้มที่ผ่านการย้อมสีเช่นนี้จะไม่สามารถขายได้ในแคลิฟอเนีย เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมายของรัฐครับ กระแสความนิยมธรรมชาติในสังคมโลกยุคปัจจุบันนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆครับคุณผู้ฟัง เนื่องจากมนุษย์เริ่มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ และมีการใช้ธรรมชาติบำบัดรักษาโรคกันมากขึ้น ทำให้การย้อมสีผลิตผลเริ่มที่จะหมดไปในอนาคตครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ สำหรับในประเทศไทยนั้น ผลไม้ที่นิยมย้อมสีกันมากหลังการเก็บเกี่ยว ก็คือละมุดครับ การจัดการละมุดหลังเก็บเกี่ยวมีหลายขั้นตอน การย้อมสีผลละมุดเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเกษตรกรและผู้ค้าส่ง ทำเพื่อช่วยให้ผลละมุดมีความสวยงาม ดึงดูดใจให้ผู้บริโภคซื้อผลิตผลมากขึ้น แต่ผู้บริโภคจะรู้หรือไม่ว่า ละมุดย้อมสีนั้นอันตรายมากๆ ครับ เรามาค้นหาคำตอบกันครับว่าสีย้อมละมุดเป็นสีที่ได้จากอะไร และขั้นตอนการจัดการละมุดหลังการเก็บเกี่ยวนั้นจะเป็นขั้นตอนอะไรบ้าง เรามาทราบคำตอบกันเดี๋ยวนี้เลยครับ

คุณผู้ฟังครับ คุณอภิตา  บุญศิริ    นักวิจัยจากงานวิจัยพืชผลหลังเก็บเกี่ยว ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ได้กล่าวถึงขั้นตอนการจัดการละมุดหลังการเก็บเกี่ยวว่ามี 10 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1  คือการเก็บเกี่ยวผลละมุด  เกษตรกรจะใช้ตะกร้อเก็บเกี่ยวผลละมุดจากต้นเมื่อผลละมุดแก่แล้ว จะเห็นได้จากการเปลี่ยนสีเปลือกของผลละมุดจากเขียวไปเป็นสีเหลืองจำปา

ขั้นตอนที่ 2  การล้างละมุด  ตามปกติแล้ว บนผิวผลละมุดจะปกคลุมไปด้วยคอร์กซึ่งเป็นขนหยาบแข็งทั่วผล เกษตรกรจึงต้องล้างผลิตผลก่อนส่งขายไปยังพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง หรือตลาดขายส่ง วิธีการล้างทำโดยการใส่ละมุดลงไปในอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ก๊อ” มีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่สามารถเปิดบริเวณส่วนหน้าให้ใส่ผลละมุดลงไปได้ ก๊อนี้ทำจากไม้ตีเป็นระแนงไม้ให้มีช่องว่างระหว่างไม้แต่ละแผ่น จากนั้นจะนำก๊อที่มีผลละมุดอยู่แช่ลงไปในน้ำ แล้วจึงเปิดสวิทซ์ของมอเตอร์ ก๊อจะหมุนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ผลละมุดจะสีกันไปมาทำให้คอร์กหลุดออกจากผลิตผลจนสะอาด เกษตรกรจะปิดสวิทซ์และตรวจดูว่าผลละมุดสะอาดแล้วหรือยัง หากยังไม่สะอาดดีพอก็จะล้างต่อไปจนกว่าจะสะอาด โดยปกติจะใช้เวลาในการล้างประมาณ 10-15 นาที/ครั้ง ครับ

ขั้นตอนที่ 3  คือการตักละมุดขึ้นจากก๊อ  เกษตรกรจะใช้สวิงตักละมุดขึ้นจากก๊อ เพื่อนำไปจุ่มในโอ่ง หรือถังที่มีสารละลายสำหรับย้อมสีอยู่

มาถึงขั้นตอนที่ 4 แล้วครับ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการย้อมสี  เกษตรกรจะนำสวิงที่มีผลละมุดที่ล้างแล้ว จุ่มลงไปในโอ่งหรือถังที่มีสารละลายของสีย้อมอยู่ แล้วรีบยกขึ้นทันที ผลละมุดจะมีสีน้ำตาลส้มสวยงาม การย้อมสีนอกจากจะช่วยทำให้ผลละมุดสวยงามแล้ว ยังช่วยปกปิดรอยช้ำและรอยแผลต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก ทำให้ยากในการมองเห็น ยกเว้นแต่จะสังเกตอย่างละเอียด สีย้อมที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสีย้อมไหม สีนี้เป็นสารสังเคราะห์ขึ้นมา มิใช่สีย้อมตามธรรมชาติ ดังนั้นผู้บริโภคผลละมุดย้อมสีทั้งเปลือกจึงอาจเป็นอันตรายได้ หากบริโภคเป็นระยะเวลานานครับ

จากการออกแบบสอบถามเกี่ยวกับการย้อมสีโดยคุณวรรยา สุธรรมชัย นิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าเกษตรกรและผู้ค้าส่งมีความคิดเห็นว่าควรย้อมสีละมุด 84-100 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้ผลดูสวยขึ้น ช่วยรัดผิวผล และประเด็นที่สำคัญคือ ทำให้ขายได้ เมื่อสอบถามผู้บริโภคพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 46-76 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ทราบว่าผลละมุดมีการย้อมสี และถ้าทราบจะมีผู้บริโภคที่ซื้อผลละมุดย้อมสีเพียง 13-21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะเกรงว่าสีที่ใช้ย้อมอาจเป็นอันตรายครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ มาถึงขั้นตอนที่ 5  คือการผึ่งแห้ง  หลังจากยกละมุดขึ้นจากสีย้อมแล้ว เกษตรกรจะผึ่งผลละมุดให้แห้งสำหรับคัดขนาดละมุด

ขั้นตอนที่ 6  การคัดเลือก  ผลละมุดที่เสียหายอย่างมากจากการเก็บเกี่ยว และการล้างทำความสะอาดอย่างมากจะถูกคัดทิ้งไป

ขั้นตอนที่ 7  การคัดขนาด  เกษตรกรจะทำการคัดแยกผลผลิตขนาดใหญ่ กลาง และเล็กแยกออกจากกัน บรรจุลงในตะกร้าพลาสติกก่อนที่จะนำไปบ่มต่อไป

ขั้นตอนที่ 8  การบ่ม  ผลละมุดจะถูกบรรจุลงในเข่งพลาสติกที่กรุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษพรู้ฟ และบ่มด้วยถ่านแก๊ส สำหรับการบ่มด้วยถ่านแก๊สนี้ ปัจจุบันบางประเทศได้ประกาศห้ามใช้ถ่านแก๊สในการบ่มผลไม้แล้วครับ เนื่องจากก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และก่อให้เกิดโรคมะเร็งกับผู้ใช้งานได้ อีกทั้งเมื่อใช้บ่มผลไม้ไปแล้ว หากใช้ในปริมาณที่เข้มข้นสูงเกินไป จะทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติผิดปกติขึ้นได้ ดังนั้นเกษตรกรและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว หากต้องการส่งละมุดไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องศึกษากฎระเบียบของประเทศคู่ค้าอย่างดีว่ายังคงยอมรับการบ่มผลไม้ด้วยถ่านแก๊สหรือไม่ครับ

ขั้นตอนที่ 9  การขนส่งไปจำหน่ายยังตลาดขายส่ง  การขนส่งไปยังตลาดขายส่งนิยมใช้รถบรรทุกขนส่งไปยังตลาดขายส่งต่างๆ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดสุรนคร เป็นต้น

และขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนที่ 10  จากตลาดขายส่งสู่ตลาดขายปลีก  โดยพ่อค้าแม่ค้าคนกลางจะรับซื้อจากตลาดขายส่งไปขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าขายปลีก หรือพ่อค้าแม่ค้าขายปลีกมาซื้อโดยตรงจากตลาดขายส่งครับ

คุณผู้ฟังครับ แม้ว่าการย้อมสีจะทำให้ละมุดดูสวยงาม ดึงดูดใจผู้ซื้อได้อย่างมากก็ตาม แต่สีที่ใช้ย้อมนั้นเป็นสีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ทราบว่าผลละมุดมีการย้อมสี จึงบริโภคทั้งเปลือก ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในระยะยาวได้ วิธีการแก้ไขคือการหันมาใช้สีย้อมธรรมชาติ ซึ่งต้องมีการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยต่อไป หรือผู้บริโภคหันมาบริโภคละมุดที่ไม่ผ่านการย้อมสีแทน นอกจากนี้แล้วเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่ใช้ถ่านแก๊สบ่มผลไม้ เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและมะเร็ง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดกลิ่นและรสชาติที่ผิดปกติกับผลิตผลได้ หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ่านแก๊ส โดยหันมาบ่มโดยวิธีการอื่นๆ เช่น ใช้ก๊าซเอทิลีนมาบ่มผลไม้แทน โดยเฉพาะในปี 2547 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นปีความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและผลักดันให้ประเทศไทย เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ และช่วยกันนำไทยสู่ครัวโลกนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากขึ้นครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ การย้อมสีละมุดด้วยสีสังเคราะห์นั้นเป็นวิธีการที่ค่อนข้างอันตราย ดังนั้นจึงได้มีการนำสีย้อมที่ได้จากธรรมชาติมาใช้ทดแทน ซึ่งเป็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และลดปัญหาการสร้างมลภาวะสิ่งแวดล้อมได้ พร้อมต้องรีบทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้ออกไปอย่างเร่งด่วน

ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้หันมาให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คุณอภิตา  บุญศิริ  จึงเห็นความสำคัญของอันตรายจากการใช้สารเคมีที่สามารถส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สีธรรมชาติจึงมีบทบาทสำคัญกับธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สีธรรมชาติยังมีประวัติความเป็นมาของสีแต่ละชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินจำนวนมากให้ความสนใจ อีกทั้งคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของสีธรรมชาติที่ละลายน้ำได้และจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งจะช่วยลดภาวะแวดล้อมเป็นพิษ ต่างจากสีสังเคราะห์ที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย สีย้อมจากธรรมชาติแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ   1. สีที่ได้จากสัตว์ ได้แก่ ครั่ง    2. สีที่ได้จากแร่ธาตุ ได้แก่ ดินแดงหรือดินลูกรัง  ดินโคลน  และ 3. สีที่ได้จากพืช เป็นสีที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น  ราก  แก่น   เปลือก   ดอก   ผล  และใบ

ประเทศไทยมีการใช้สีธรรมชาติจากพืชหลายชนิด รวมทั้งกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบแดง และขมิ้นชันด้วย โดยได้มีการนำมาผสมกับอาหารและผลิตข้าวเคลือบสมุนไพร  เพื่อเพิ่มคุณค่าอาหารให้กับข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะสรรพคุณในด้านยารักษาโรค กระเจี๊ยบแดงมีคุณสมบัติช่วยขับปัสสาวะ  แก้เสมหะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ ขับนิ่ว แก้กระหายน้ำ สำหรับขมิ้นชันมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ขับน้ำดี ช่วยให้เจริญอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ และยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการเจริญของเชื้อรา

ขมิ้นชันและกระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่มีขายกันในท้องตลาดทั่วไปที่ให้สารสีเหลืองและสีแดงตามลำดับ พืชทั้งสองชนิดมีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ ขมิ้นชันสามารถแก้โรคกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องร่วง บิด หากนำผงขมิ้นมาละลายน้ำทาแก้ผดผื่นคัน พิษมดกัด ยุงกัด เหง้าขมิ้นมีสารประกอบสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหยประมาณ 2-6 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีสารที่ให้สีเช่น เคอร์คิวมีน, โมโนดีมีทอกซี่ เคอร์คิวมิน ซึ่งน้ำมันระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบของตับ ช่วยขับน้ำดี ลดอาการบวมน้ำ ในการปรุงอาหารผงขมิ้นชันมีคุณสมบัติกันบูดได้ เนื่องจากมีเคอร์คิวมิน และเนื่องจากมีสีจึงนิยมนำมาใช้ในการแต่งสีรสและกลิ่นของอาหาร และยังใช้เป็นสีย้อมผ้าไหม ไหมพรม และเครื่องสำอางด้วย สำหรับกระเจี๊ยบแดงนั้น กลีบดอกกระเจี๊ยบแดงประกอบไปด้วยเม็ดสีแอนโธไซยานินจำนวนมาก ดอกกระเจี๊ยบแดงเมื่อนำมาต้มกับน้ำร้อน นิยมดื่มแก้กระหาย ทำให้สดชื่น นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรเป็นยาแก้นิ่ว ลดไข้ แก้ไอ ขับน้ำดี และขับปัสสาวะ การทำให้สีขมิ้นเปลี่ยนจากสีส้มเหลืองไปเป็นสีแดง สามารถทำได้โดยการปรับความเป็นกรดเป็นด่างด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ตั้งแต่ pH 7.4 ขึ้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงจากสีเหลืองเป็นสีแดง และสีแดงจะยิ่งเข้มมากขึ้นเมื่อ pH เพิ่มมากขึ้นครับ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำการทดลองโดยการสกัดสีย้อมจากกระเจี๊ยบและขมิ้นมาย้อมสีละมุดทดแทนสีย้อมสังเคราะห์ ซึ่งผลการทดลองจะเป็นอย่างไรนั้นอีกสักครู่มาติดตามกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ จากผลการทดลองการย้อมสีละมุดด้วยสีสกัดจากขมิ้นชันและกระเจี๊ยบ ด้วยการนำเอาวัตถุดิบทั้งสองชนิดมาอบให้แห้ง บดให้ละเอียด และนำมาสกัดเอาสีย้อมออกมา สรุปได้ว่า สีย้อมที่สกัดได้จากขมิ้นชันเมื่อนำมาย้อมผลละมุดและเปรียบเทียบกับการใช้สีสังเคราะห์ในการย้อมนั้น มีสีที่ใกล้เคียงกันมาก การทดลองนี้จึงมีความเป็นไปได้ ที่สีย้อมที่สกัดจากขมิ้นจะสามารถนำมาใช้ทดแทนสีย้อมสังเคราะห์ที่เกษตรกรใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้สีย้อมขมิ้นมีสีที่เข้มขึ้น เพื่อให้สีที่เป็นที่พอใจของเกษตรกรมากขึ้น อีกทั้งควรมีการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคให้มากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา และเป็นข้อมูลที่แจ้งให้เกษตรกรได้รับทราบความต้องการของผู้บริโภคอย่างถูกต้องมากขึ้น

และอีกการทดลองหนึ่งคือ การย้อมสีละมุดด้วยสารสกัดจากขมิ้นชันที่มีการปรับความเป็นกรดเป็นด่างด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์

จากการย้อมสีผลละมุดด้วยสีย้อมสกัดจากขมิ้นปรับสารละลายให้มีฤทธิ์เป็นด่างด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ เปรียบเทียบกับผลละมุดที่ไม่ผ่านการย้อมสี และย้อมสีสังเคราะห์เจือจางและเข้มข้น สรุปได้ว่า การนำสารสกัดจากขมิ้นผสมสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ 0.5-1.0 มิลลิลิตร จึงน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายจากการเกิดโรคมะเร็ง อันเนื่องมาจากการใช้สีย้อมผ้าสังเคราะห์เจือจางและเข้มข้น แม้ว่าการย้อมสีสกัดจากขมิ้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตมากกว่าถึงเกือบ 3 บาท แต่เมื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และประโยชน์จากการส่งออกผลละมุดไปยังต่างประเทศแล้ว การเพิ่มต้นทุนการผลิตนับว่ามีความจำเป็น และสามารถนำมาใช้ทดแทนสีย้อมสังเคราะห์ได้ครับ

คุณผู้ฟังครับ กระผมหวังว่าสาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ คุณผู้ฟังสามารถติชมรายการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยการเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903” หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 ครับ และสำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ

 

……………………………………………………………………………………………………………